มาค้นหาความฉลาดของลูกด้วยทฤษฎีพหุปัญญา 9 ด้าน
โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ เจ้าของทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligence) บอกว่ามนุษย์เรามีความฉลาดทุกด้าน เพียงแต่ด้านไหนมากด้านไหนน้อยแตกต่างกัน ซึ่งความฉลาดเหล่านั้นจะหลอมรวมเป็นบุคลิกของตัวเรา เด็กแต่ละคนจึงเรียนรู้ได้ดีในแบบฉบับของตัวเอง เช่น บางคนฟังปุ๊บเข้าใจปั๊บ (Verbal Intelligence) บางคนเก็ทไวถ้าได้ลงมือทำ (Kinesthetic Intelligence) หรือบางคนเรียนรู้ได้ดีเมื่อมีข้อมูลให้เห็นเป็นภาพ (Visual Intelligence) เป็นต้น
ความชอบหรือความถนัดนั้นส่วนใหญ่จะเริ่มเห็นได้เด่นชัดเมื่อเด็กอายุเข้าสู่ช่วงท้ายของวัยอนุบาล (ประมาณ 4 ขวบขึ้นไป) เนื่องจากเป็นวัยที่พัฒนาการด้านต่างๆ ทั้งภาษา กล้ามเนื้อ อะไรต่อมิอะไรนั้นพร้อมที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ประกอบกับเด็กในวัยนี้จะมีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมต่างๆ มาพอสมควร เช่น เขียนหนังสือ นับเลข วาดรูป ร้องเพลง เล่นกับเพื่อน ฯลฯ และที่สำคัญมากที่สุดคือเด็กในวัยนี้จะเป็นวัยที่ “ช่างเลือก” คือบอกได้ว่าตัวเอง ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร อยากทำอะไร ไม่อยากทำอะไร ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการสังเกต นอกจากการสังเกตแล้ว การพาลูกออกไปทดลองทำกิจกรรมต่างๆ นั้นก็มีความสำคัญ เพราะต้องอย่าลืมว่าเด็กเล็กๆ เองก็ไม่รู้หรอกว่าในโลกนี้มันมีอะไรให้ทำบ้าง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรหาเวลาพาลูกๆ ออกไปทำกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อค้นหาความชอบและความถนัดของตัวเอง
1. ความฉลาดทางด้านภาษา (Linguistic intelligence)
คือความสามารถในการใช้ภาษาสื่อสารกับผู้อื่นได้ดี ผ่านการพูด การอ่าน และการเขียน เช่น ชอบเล่านิทานมีความสามารถในการพูด การอ่าน และการเขียน เช่น ชอบเล่านิทาน มีความสามารถในการพูดและลำดับเรื่องราวต่างๆ ได้ดี สามารถจับใจความของเรื่องที่อ่านได้ดี สามารถใช้ภาษาเขียนได้ดี หรือเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน
ลักษณะของบุคคลที่มีจุดเด่นหรือมีความสามารถทางปัญญาด้านภาษา
• มีนิสัยรักการอ่าน ติดหนังสือ ชอบเขียน ชอบพูด สามารถเล่าเรื่องต่าง ๆ ได้ดี
• จำชื่อสถานที่ เรื่องราว รายละเอียดต่าง ๆ ได้ดี
• เจ้าบทเจ้ากลอน มีอารมณ์ขัน ตลก ชอบเล่นปริศนา คำทาย
• ชอบพูดเล่นคำ สำนวน คำผวน คำพ้อง
• ชอบเรียนวิชาภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ประวัติศาสตร์ มากกว่าคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์
ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ
• จัดกิจกรรมให้ได้รับประสบการณ์ตรง เพื่อนำมาเขียนเรื่องราว
• จัดกิจกรรมให้ได้พูด ได้อ่าน ได้ฟัง ได้เห็น ได้เขียนเรื่องราวที่สนใจ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
• ครูควรรับฟังความคิดเห็น คำถาม และตอบคำถามด้วยความเต็มใจ กระตือรือร้น
• จัดเตรียมหนังสือ สื่อการเรียนการสอนเพื่อการค้นคว้าที่หลากหลาย เช่น เทปเสียง วิดีทัศน์ จัดเตรียมกระดาษเพื่อการเขียน อุปกรณ์การเขียนให้พร้อม
• ยุทธศาสตร์ในการสอนคือ ให้อ่าน ให้เขียน ให้พูด และให้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ ที่นักเรียนสนใจ อภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้อื่น
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็น นักพูด ครูสอนภาษา นักเล่านิทาน นักการเมือง กวี นักเขียน บรรณาธิการ บรรณารักษ์ นักหนังสือพิมพ์ นักประชาสัมพันธ์ นักข่าว ผู้ประกาศข่าว เป็นต้น
2. ความฉลาดทางด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ (Logical-mathematic intelligence)
ความฉลาดทางด้านนี้เกี่ยวกับความสามารถในการนำตรรกะมาแก้ไขปัญหา จำแนกสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระเบียบแบบแผนได้ นอกจากนั้น ยังชื่นชอบการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ และเรียนรู้ปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ อีกด้วย เด็กที่ฉลาดทางด้านนี้จะชอบเล่นเกมส์ที่ต้องแก้ปัญหาทุกชนิด และสามารถเชื่อมโยงเหตุและผลของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
จุดเด่นของเด็กที่มีความฉลาดด้านคณิตศาสตร์และตรรกะ คือ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลได้ดี เมื่อเผชิญสถานการณ์ที่ซับซ้อน เด็กสามารถแยกแยะ จัดลำดับและเข้าใจรูปแบบของสิ่งที่เกิดขึ้น
ลักษณะของบุคคลที่มีจุดเด่นหรือมีความสามารถทางปัญญาด้านตรรกะและคณิตศาสตร์
• ชอบทดลองแก้ปัญหา สนุกที่ได้ทำงานกับตัวเลข หรือเกมคิดเลข การคิดเลขในใจ เป็นต้น
• ชอบและมีทักษะในการใช้เหตุผล การซักถามปัญหาให้คิดเชิงเหตุผล
• ชอบทำตามสั่ง ทำอะไรที่เป็นระบบระเบียบตามลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน
• สนใจข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และวิทยาการต่าง ๆ
• ชอบค้นหาเหตุผลมาหักล้างหรือวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของผู้อื่น
• เชื่อถือเฉพาะแต่สิ่งที่อธิบายได้ มีเหตุผลเพียงพอ
• ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์
ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ
• ให้มีโอกาสได้ทดลอง หรือทำอะไรด้วยตนเอง
• ส่งเสริมให้ทำงานสร้างสรรค์ งานศิลปะที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์
• ให้เล่นเกมที่ฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เช่น เกมไพ่ เกมตัวเลข ปริศนาตัวเลข ฯลฯ
• ให้ช่วยทำงานบ้าน งานประดิษฐ์ ตกแต่ง
• ฝึกการใช้เหตุผล การแก้ปัญหา การศึกษาด้วยโครงงานในเรื่องที่นักเรียนสนใจ
• ฝึกฝนทักษะการใช้เครื่องคิดเลข เครื่องคำนวณ เครื่องคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
• ยุทธศาสตร์ในการสอนคือให้ฝึกคิดแบบมีวิจารณญาณ วิพากษ์ วิจารณ์ ฝึกกระบวนการสร้างความคิดรวบยอด การชั่ง ตวง วัด การคิดในใจ การคิดเลขเร็ว ฯลฯ
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็นนักบัญชี นักคณิตศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ นักวิทยาศาสตร์ ครู-อาจารย์ แพทย์ พยาบาล นายธนาคาร ผู้ตรวจสอบบัญชี นักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น
3. ความฉลาดทางด้านมิติสัมพันธ์และจินตภาพ (Spatial intelligence)
คือความสามารถในเรื่องการมองเห็นสิ่งต่างๆ และนำไปสร้างเป็นภาพในสมองได้ สามารถจดจำและเรียนรู้เป็นภาพแทนที่จะจดจำเป็นคำพูด เด็กที่มีความฉลาดทางด้านมิติสัมพันธ์และจินตภาพจะชอบวาดรูป ชอบทำศิลปะประดิษฐ์ ชอบปั้น ชอบเล่นเกมตัวต่อ จิ๊กซอว์ และสนุกกับการจดจำเส้นทางต่างๆ
ลักษณะของบุคคลที่มีจุดเด่นหรือมีความสามารถทางปัญญาด้านมิติสัมพันธ์
• ชอบวาดเขียน มีความสามารถทางศิลปะ
• ชอบหลับตาคิดถึงภาพในความคิด จินตนาการ
• ชอบวาดภาพ ขีดเขียนสิ่งต่าง ๆ ลงในกระดาษ สมุดจดงาน
• ชอบอ่านแผนที่ แผนภูมิต่าง ๆ
• ชอบบันทึกเรื่องราวไว้ในภาพถ่ายหรือภาพวาด
• ชอบเล่นเกมต่อภาพ (Jigsaw Puzzles) เกมจับผิดภาพ หรือเกมที่เกี่ยวกับภาพ
• ชอบเรียนวิชาศิลปศึกษา เรขาคณิต พีชคณิต
• ชอบวาดภาพในลักษณะมุมมองที่แตกต่างออกไปจากธรรมดา
• ชอบดูหนังสือที่มีภาพประกอบมากกว่าหนังสือที่มีแต่ข้อความ
ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ
• ให้ทำงานศิลปะ งานประดิษฐ์ เพื่อเปิดโอกาสให้คิดได้อย่างอิสระ
• พาไปชมนิทรรศการศิลปะ พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ
• ฝึกให้ใช้กล้องถ่ายภาพ การวาดภาพ สเก็ตซ์ภาพ
• จัดเตรียมอุปกรณ์การวาดภาพให้พร้อม จัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำงานด้านศิลป์
• ฝึกให้เล่นเกมปริศนาอักษรไขว้ เกมตัวเลข เกมที่ต้องแก้ปัญหา
• เรียนได้ดีหากได้ใช้จินตนาการ หรือความคิดที่อิสระ ชอบเรียนด้วยการได้เห็นภาพ การดู การรับรู้ทางตา
• ฝึกให้ใช้หรือเขียนแผนที่ความคิด (Mind Mapping) การใช้จินตนาการ
• ให้เล่นเกมเกี่ยวกับภาพ เกมตัวต่อเลโก้ เกมจับผิดภาพ ฯลฯ
• ยุทธศาสตร์ในการสอนคือการให้ดู ให้วาด ให้ระบายสี ให้คิดจินตนาการ
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็นศิลปิน จิตกร นักวาดการ์ตูน ครูสอนศิลปะ ช่างภาพ สถาปนิก มัณฑนากร นักออกแบบเสื้อผ้า ช่างก่อสร้าง และผู้ชำนาญทาง เช่น นายพราน คนขับเครื่องบิน คนขับรถ คนขับเรือ เป็นต้น
4. ความฉลาดทางด้านดนตรี (Musical intelligence)
คือความสามารถในการแสดงออกทางด้านดนตรี เช่น การร้องเพลง การเล่นดนตรี และการสร้างสรรค์ผลงานเพลง เด็กที่มีความฉลาดทางด้านดนตรีจะชอบร้องเพลง ชอบฟังเพลง มีหูดี ไวต่อเสียงสูง-ต่ำ มีใจรักในการเล่นดนตรี สามารถสร้างสรรค์งานด้านดนตรี โดยการคิดท่าประกอบเพลง แต่งเนื้อเพลง จังหวะ และทำนองเพลงแปลกๆ ใหม่ๆ รวมทั้งการเขียนโน้ตเพลงด้วยตนเองได้ เป็นต้น
ลักษณะของบุคคลที่มีจุดเด่นหรือมีความสามารถทางปัญญาด้านดนตรี
• ชอบร้องรำทำเพลง เล่นดนตรี
• ชอบเสียงต่าง ๆ ชอบธรรมชาติ
• แยกแยะเสียงต่าง ๆ ได้ดี รู้จักท่วงทำนอง เรียนรู้จังหวะดนตรีได้ดี
• ชอบผิวปาก ฮัมเพลงเบา ๆ ขณะทำงาน
• มักจะเคาะโต๊ะ หรือขยับเท้าตามจังหวะเมื่อฟังเพลง
• สามารถจดจำเสียงที่เคยได้ยินแม้เพียงครั้งเดียวหรือสองครั้งได้
• เล่นเครื่องดนตรีได้อย่างน้อย 1 ชิ้น
ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ
• ให้เล่นเครื่องดนตรี ร้องเพลง ฟังเพลงสม่ำเสมอ
• หาโอกาสดูการแสดงดนตรี หรือฟังดนตรีเป็นประจำ
• บันทึกเสียงดนตรีที่นักเรียนแสดงไว้ฟังเพื่อปรับปรุงหรือชื่นชมผลงาน
• ให้ร้องรำทำเพลงร่วมกับเพื่อนหรือคุณครูเสมอ ๆ
• ยุทธศาสตร์ในการสอนได้แก่ปฏิบัติการร้องเพลง การเคาะจังหวะ การฟังเพลง การเล่นดนตรี การวิเคราะห์ดนตรี วิจารณ์ดนตรี เป็นต้น
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็นนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง คนเรียบเรียงเนื้อร้องและทำนองเพลง ครูสอนดนตรี ดีเจ ผู้ควบคุมห้องอัดเสียง เป็นต้น
5. ความฉลาดทางด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย (Bodily-kinesthetic intelligence)
คือความสามารถในการแสดงความรู้สึกนึกคิดโดยใช้ร่างกาย มีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนไหวร่างกาย ชอบทำงานฝีมือและสามารถประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและประณีต เด็กๆ ที่มีความฉลาดทางด้านการเคลื่อนไหวร่างกายจะชอบเล่นกีฬา ชอบช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำกับข้าว ชอบประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ และเวลาได้ยินเพลงหรือดนตรีที่มีจังหวะถูกใจมักจะชอบเต้นหรือรำตามจังหวะเพลงนั้นๆ จุดเด่นของเด็กที่มีความฉลาดด้านร่างกาย คือ พวกเขาตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางกายภาพได้ดีพวกเขาใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็กได้อย่างยอดเยี่ยมพวกเขามักเคลื่อนไหวตลอดเวลาที่เรียนรู้ (ทำให้อาจดูเหมือนนั่งนิ่งๆ ไม่ได้)
ลักษณะของบุคคลที่มีจุดเด่นหรือมีความสามารถทางปัญญาด้านร่างกาย
• ชอบการเคลื่อนไหว ไม่อยู่นิ่ง
• เป็นนักกีฬา กระตือรือร้น ชอบเต้นรำ เล่นละคร หรือบทบาทสมมุติ
• ชอบทำอะไรด้วยตนเองมากกว่าจะให้คนอื่นทำให้ตน
• ชอบทำมือประกอบท่าทางขณะพูดคุย
• ชอบเล่นเครื่องเล่นที่โลดโผน หวาดเสียว เช่น ชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน รถไฟเหาะตีลังกา ฯลฯ
• ชอบเรียนวิชาพละศึกษา งานประดิษฐ์ ชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง
• ชอบลงมือกระทำจริงมากกว่าการอ่านคู่มือแนะนำหรือดูวิดีโอแนะนำ
• ชอบคิดหรือใช้ความคิดขณะออกกำลังกาย เดิน วิ่ง
ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ
• เรียนรู้ได้ด้วยการสัมผัส จับต้อง การเคลื่อนไหวร่างกาย และการปฏิบัติจริง
• สนับสนุนให้เล่นกีฬา การแสดง เต้นรำ การเคลื่อนไหวร่างกาย
• จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรง หรือได้ปฏิบัติจริง
• ให้เล่นเกม เดิน วิ่ง หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวร่างกาย
• ให้เล่นหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง กีฬา การเคลื่อนไหวประกอบจังหวะ
• ยุทธศาสตร์ในการสอนคือการให้นักเรียนปฏิบัติจริง ลงมือทำจริง ได้สัมผัส เคลื่อนไหว ใช้ประสาทสัมผัสในการเรียนรู้ และการเรียนผ่านการแสดงบทบาทสมมุติ แสดงละคร
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็นนักกีฬา ครูพละ นักแสดง แดนเซอร์ นักฟ้อนรำ นักบัลเลต์ นักประดิษฐ์ ช่างไม้ ช่างตัดเสื้อ ช่างซ่อมรถ หมอฟัน หมอผ่าตัด หมอศัลยกรรม นักดนตรี ช่างทำผม พ่อครัวหรือแม่ครัว เป็นต้น
6. ความฉลาดทางด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal intelligence)
เด็กที่ฉลาดด้านนี้จะมีมนุษยสัมพันธ์ดีเยี่ยม พวกเขาจึงเป็นคนที่มีเพื่อนมาก ชอบทำงานร่วมกับคนอื่น และมีความสามารถในการเป็นผู้นำสูง จุดเด่นของเด็กที่มีความฉลาดด้านมนุษยสัมพันธ์ คือ เขาชอบเล่นเป็นกลุ่มเขาสามารถนำผู้อื่นได้ดีเขาสนใจความรู้สึกและมักเห็นอกเห็นใจคนอื่น
ลักษณะของบุคคลที่มีจุดเด่นหรือมีความสามารถทางปัญญาด้านมิติสัมพันธ์
• ชอบมีเพื่อน ชอบพบปะผู้คน ร่วมสังสรรค์กับผู้อื่น
• ชอบเป็นผู้นำ หรือมีส่วนร่วมในกลุ่ม
• ชอบแสดงออกให้ผู้อื่นทำตาม ช่วยเหลือผู้อื่น ทำงานหรือประสานงานกับผู้อื่นได้ดี
• ชอบพูดชักจูงให้ผู้อื่นทำมากกว่าจะลงมือทำด้วยตนเอง
• เข้าใจผู้อื่นได้ดี สามารถอ่านกิริยาท่าทางของผู้อื่นได้
• มักจะมีเพื่อนสนิทหลายคน
• ชอบสังคม อยู่ร่วมกับผู้อื่นมากกว่าจะอยู่คนเดียวที่บ้านในวันหยุด
ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ
• จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เข้ากลุ่ม ทำงานร่วมกัน
• ส่งเสริมให้อภิปราย เรียนรู้ร่วมกัน แก้ปัญหาร่วมกัน
• สามารถเรียนได้ดีหากให้โอกาสในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
• ยุทธศาสตร์ในการสอนได้แก่การให้ทำงานร่วมกัน การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเพื่อน การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม การจำลองสถานการณ์ บทบาทสมมุติ การเรียนรู้สู่ชุมชน เป็นต้น
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็นจิตแพทย์ นักจิตบำบัด นักการเมือง นักอาสาพัฒนาชุมชน ผู้นำในองค์กรต่างๆ พนักงานต้อนรับ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ นักบริหาร ผู้จัดการ นักธุรกิจ นักการตลาด ครู-อาจารย์ เป็นต้น
7. ความฉลาดทางด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal intelligence)
คือความสามารถในการรู้จักและยอมรับตนเองตามความเป็นจริง ภาคภูมิใจในตนเอง รู้จุดเด่นจุดด้อยของตนเอง เข้าใจความรู้สึกของตนเองได้ดี เด็กๆ ที่มีความฉลาดทางด้านการเข้าใจตนเอง จะมีความมั่นใจ ชอบทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง และยอมรับความผิดพลาดที่เกิดจากการตัดสินใจของตนได้
ลักษณะของบุคคลที่มีจุดเด่นหรือมีความสามารถทางปัญญาด้านเข้าใจตนเอง
• ชอบอยู่ตามลำพังคนเดียวเงียบ ๆ คิดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับตนเอง
• ติดตามสิ่งที่ตนเองสนใจเป็นพิเศษ มีแรงจูงใจสูง
• มีอิสระในความคิด รู้ตัวว่าทำอะไร และพัฒนาความรู้สึกนึกคิดอยู่เสมอ
• ชอบใช้เวลาว่างในวันหยุดอยู่คนเดียวมากกว่าที่จะออกไปในที่มีคนมาก ๆ
• เข้าใจตนเอง วามรู้สึก ความคิดและการแสดงออกของตัวเอง
• ชอบทำอะไรด้วยตนเองมากกว่าที่จะคอยให้คนอื่นช่วยเหลือ
ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ
• เปิดโอกาสให้ทำงานตามลำพัง ทำงานคนเดียว อิสระ แยกตัวจากกลุ่มบ้าง
• สอนให้เห็นคุณค่าของตัวเอง นับถือตัวเอง (self esteem)
• สนับสนุนให้ทำงานเขียน บันทึกประจำวัน หรือทำหนังสือ จุลสาร
• สนับสนุนให้ทำโครงงาน การศึกษารายบุคคล หรือทำรายงานเดี่ยว
• ให้เรียนตามความถนัด ความสนใจ ตามจังหวะการเรียนเฉพาะตน
• ให้อยู่กับกลุ่ม ทำงานร่วมกับผู้อื่นบ้าง
• ยุทธศาสตร์การสอนควรเน้นที่การเปิดโอกาสให้เลือกศึกษาในสิ่งที่สนใจเป็นพิเศษ การวางแผนชีวิต การทำงานร่วมกับผู้อื่น การศึกษารายบุคคล (Individual Study)
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพอิสระ เป็นเจ้าของกิจการ เป็นนายจ้างของตัวเอง นักจิตวิทยา ที่ปรึกษา กวี นักเขียน ศิลปิน เป็นต้น
8. ความฉลาดทางด้านธรรมชาติ (Naturalistic intelligence)
คือความสามารถในการเข้าใจระบบธรรมชาติ รู้จักธรรมชาติของพืชและสัตว์ สนใจในสิ่งแวดล้อมรอบตัว ปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ และระบบนิเวศวิทยา เด็กๆ ที่มีความฉลาดทางด้านธรรมชาติ
ลักษณะของบุคคลที่มีจุดเด่นหรือมีความสามารถทางปัญญาด้านรู้จักธรรมชาติ
• ชอบสัตว์ ชอบเลี้ยงสัตว์
• สนใจสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติรอบตัว
• สนใจความเป็นไปในสังคมรอบตัว ชอบศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ การดำรงชีวิต จิตวิทยา
• คิดถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม
• เข้าใจธรรมชาติของพืชและสัตว์ได้เป็นอย่างดี รู้จักชื่อต้นไม้ ดอกไม้หลายชนิด
• ไวต่อความรู้สึก การเปลี่ยนแปลงของดิน ฟ้า อากาศ
• สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี
• มีความรู้เรื่องดวงดาว จักรวาล สนใจวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ
• ฝึกปฏิบัติงานด้านเกษตรกรรมเกี่ยวกับการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์
• ศึกษาสังเกต บันทึกความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ลม ฟ้า อากาศ
• จัดกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมศึกษา ค่ายสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเกษตรกร สัตวแพทย์ นักอนุรักษ์วิทยา นักชีววิทยา นักพฤกษศาสตร์ นักนิเวศวิทยา นักสัตววิทยา เจ้าของฟาร์ม ชาวสวน ชาวประมง นักสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
9. ความฉลาดทางด้านจิตวิญญาณ (Spiritual intelligence)
คือความฉลาดในการใช้ความคิดไต่ตรองในเชิงจิตนิยม เป็นความฉลาดในระดับสิตปัญญาขั้นสูง ซึ่งเป็นการหยั่งรู้ภายในตนระดับลึก เป็นการมองโลกในเชิงปรัชญา เช่น คนเราเกิดมาทำไม เป็นต้น เด็กที่มีความฉลาดทางด้านจิตวิญญานจะเป็นคนช่างคิด ช่างสังเกต มีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูง มีความสงบสุขภายในใจ และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
เด็กที่มีความฉลาดทางด้านจิตวิญญาณ โตขึ้นจะเป็นนักศาสนศาสตร์ นักบวช นักปรัชญา นักจิตวา นักจิตบำบัด นักสืบ ผู้นำทางศาสนา การเมือง และสังคม เป็นต้น
ข้อมูล : “DVD เพลงพหุปัญญา โดย ดร.แพง ชินพงศ์ และดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ