IQ ดี EQ เด่น สร้างได้ด้วย “ความผูกพันทางอารมณ์”
คุณอยากให้ลูกโตมาเป็นแบบไหน??
⇒ แบบ A
• เชื่อมั่นในตนเอง รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
• ควบคุมอารมณ์ได้ดี
• สนใจเรียนรู้สิ่งรอบตัว
• เข้าใจผู้อื่น สร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดี
• รู้จักไว้วางใจผู้อื่น
⇒ แบบ B
• รู้สึกไร้ค่า มองตัวเองในแง่ลบ
• ควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดี แสดงออกอย่างไม่เหมาะสม
• สนใจเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมน้อย
• ไม่เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกผู้อื่น
• หวาดระแวง ไม่ไว้วางใจผู้อื่น
เชื่อได้ว่าคุณพ่อคุณแม่คงเลือกตอบแบบ A กันอย่างแน่นอน แต่รู้หรือไม่ ? ว่าการที่ลูกจะเติบโตมามีลักษณะแบบนี้ สิ่งสำคัญคือ ลูกต้องมี “ความผูกพันทางอารมณ์” กับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูเป็นอย่างดี เพราะความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคงจะทำให้ลูกเติบโตได้อย่างมีพัฒนาการที่ดีทั้งด้านอารมณ์ สังคม และความคิด
การสร้างความผูกพันทางอารมณ์
ความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่จะเกิดขึ้นได้ ต้องประกอบด้วย
1. ความใกล้ชิด
ซึ่งเกิดได้จากการมองหน้า สบตา สัมผัสที่อ่อนโยน และการทำกิจกรรมร่วมกันในชีวิตประจำวัน เช่น กินอาหาร อาบน้ำ แต่งตัว เล่านิทาน
2. ความไวในการรับรู้ความรู้สึกและความต้องการของลูก
ยิ่งคุณพ่อคุณแม่รับรู้และตอบสนองได้ไว ก็จะยิ่งส่งผลให้ลูกรู้สึก ปลอดภัย ได้รับการดูแล และมีความมั่นคงในจิตใจ
3. การตอบสนองต่อลูก
ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมทางด้านนิสัย ความชอบของลูก พัฒนาการตามวัย และสถานการณ์ในขณะนั้น เช่น หากลูกกลัว คุณพ่อคุณแม่ก็กอดปลอบ หากลูกหิว ก็หาน้ำ หาอาหารมาให้ทาน สิ่งสำคัญคือ ต้องไม่ใช้อารมณ์ และไม่ตอบสนองลูกด้วยความรุนแรงทั้งทางกายและวาจา
4. ความสม่ำเสมอในการรับรู้และตอบสนอง
จะทำให้ลูกรู้สึกมั่นคง ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรมีการตอบสนองให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
7 วิธีพัฒนาความผูกพันทางอารมณ์
1. หมั่นสังเกตพฤติกรรม ท่าทาง การแสดงออกของลูกว่าต้องการสื่อสารอะไร และตอบสนองทันทีอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ
2. เล่นกับลูกอย่างน้อย 15 นาทีต่อวัน โดยให้ลูกเป็นผู้เลือกว่าจะเล่นอะไร ส่วนคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นผู้ตามในการเล่น และต้องไม่ขัดจังหวะ
3. กำหนดช่วงเวลาในการทำกิจวัตรประจำวันของลูกให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ
4. สื่อสารด้วยภาษาท่าทาง เช่น สบตา ยิ้ม โอบกอด อุ้ม เพื่อสร้างความอบอุ่นทางใจ และให้ลูกรู้สึกปลอดภัย
5. ให้อิสระลูกในการเล่น สำรวจ และทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ในขอบเขตที่เหมาะสมและปลอดภัย โดยคุณพ่อคุณแม่คอยอยู่ใกล้ ๆ เพื่อให้กำลังใจ จะส่งผลให้ลูกมีความมั่นใจและกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง
6. ในช่วงวัย 6 เดือนแรก ควรมีคนเลี้ยงหลัก 1 คน และไม่ควรเปลี่ยนคนเลี้ยงบ่อย หรือมีคนเลี้ยงหลายคน
7. ลูกควรมีความผูกพันทางอารมณ์แนบแน่นลึกซึ้งกับผู้ใหญ่อย่างน้อย 1 คนในครอบครัว
สุดท้ายนี้ แม้ว่าลูกจะสามารถมีความผูกพันได้กับหลายบุคคล
แต่ลูกจะพัฒนาความผูกพันเหนียวแน่นได้กับบุคคลเพียงคนเดียว
คือ คนที่ลูกใช้เวลาด้วยมากที่สุด รู้จัก และเข้าใจลูกมากที่สุด
แต่ไม่ใช่คนที่ตามใจลูกมากที่สุด
ข้อมูลอ้างอิง : คู่มือการจัดกิจกรรมพัฒนา เด็กไทยคิดเป็น คิดดี คิดให้ ด้วยสายใยพันผูก, สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต