เด็กในช่วงวัยอนุบาลนี้ เด็กจะช่างซักช่างถาม โดยมักจะถามความหมายของคำหรือวลีที่ไม่เข้าใจ หรือถามถึงที่มาหรือเหตุผลของสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น หนูเกิดมาได้อย่างไร ของสิ่งนี้ทำงานได้อย่างไร ทำไมพระจันทร์จึงเป็นรูปวงกลม
พ่อแม่และครูควรตอบคำถามของเด็กโดยไม่แสดงความหงุดหงิดรำคาญและให้เหตุผลง่ายๆ ที่เด็กเข้าใจ รวมทั้งหมั่นพูดคุยในเรื่องต่างๆ ชวนให้เด็กเล่าเรื่องที่เขาพบเห็นหรือได้ยินมา เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและต่อยอดความรู้ให้กับเด็ก
3 ปีครึ่ง - 4 ปี
- พูดมากขึ้น และมีคำศัพท์ใหม่ๆ
- เด็กจะพูดคุยได้เป็นประโยค แม้จะยังไม่คล่องนัก อาจพบคำพูดซ้ำๆ หรือฟังดูคล้ายติดอ่างได้เป็นปกติตามวัย ซึ่งคำซ้ำๆ นี้จะค่อยๆ หายไปเมื่ออายุ 4-5 ปี
- รู้จักเรียง วางประโยคได้ถูกต้อง
- เข้าใจคำว่า "ข้างบน" "ข้างล่าง"
- รู้จักใช้คำปฏิเสธ เช่น "ไม่ไป"
- มักจะใช้คำว่า "สมมุติว่า..."
- ฟังนิทานได้ประมาณ 20 นาที
4 - 5 ปี
- จำคำศัพท์ได้ประมาณ 1,550 - 1,900 คำ
- บอกชื่อและนามสกุลตนเองได้
- รู้จักเพศของตนเอง
- ชอบแต่งประโยคโดยใช้คำต่างๆ
- ชอบใช้คำถาม ทำไม เมื่อไหร่ อย่างไร และสนใจความหมายของคำต่างๆ
- สามารถพูดประโยคที่เกิดขึ้นในอดีตและพูดถึงอนาคตใกล้ๆ โดยเข้าใจความหมาย เช่น เมื่อวาน พรุ่งนี้ เป็นต้น
- สามารถพูดประโยคในเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกันและยกเหตุผลง่ายๆ เช่น หนูทำน้ำหกตัวเปียกหมดเลย
5 - 6 ปี
- พูดได้คล่องและถูกหลักไวยากรณ์ แต่ยังออกเสียงพยัญชนะบางตัวไม่ชัด เช่น ส ว ฟ
- จำคำศัพท์ได้ถึง 2,200 คำ
- สามารถอธิบายความหมายของคำได้ เริ่มสะกดคำได้ นับเลขได้ถึง 30
- สนใจคำใหม่ๆ และพยายามค้นหาความหมายของคำนั้นๆ
- บอกชื่อ ที่อยู่ อายุ และวันเกิดของตนเองได้
- ชอบท่องหรือร้องเพลงที่มีจังหวะ และเนื้อร้องที่มีคำสัมผัสกัน
(เรียบเรียงข้อมูลจากคู่มือสำหรับพ่อแม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก ตอน วัย 3-6 ปี)