เล่นสนุก ปลุกจินตนาการ เล่นแบบ “Loose parts Play”
ของเล่นอะไรที่ว่าดี คุณพ่อคุณแม่ก็อยากสรรหามาให้ลูก แต่บางครั้งของที่ถูกมองว่าไร้ประโยชน์ ถูกทิ้งขว้าง ไม่มีค่า หรือของใกล้ตัวที่เห็นอยู่บ่อย ๆ ก็อาจกลายเป็น “ของเล่นที่สนุกที่สุด” ของลูกเลยก็เป็นได้ พูดไปเดี๋ยวจะหาว่าโม้ ถ้าอย่างนั้นลองมาทำความรู้จักกับการเล่นแบบ “Loose parts Play” กันก่อนดีกว่า
Loose parts Play คืออะไร
Loose parts Play คือ การเล่นกับวัสดุ สิ่งของ ชิ้นส่วนต่าง ๆ ทั้งที่เป็นของจากธรรมชาติ หรือเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น อาจมีอยู่แล้วในครัวเรือน เป็นของที่ไม่ใช้แล้ว หรือเป็นขยะที่ทิ้งแล้ว ซึ่งสามารถเคลื่อนย้าย ถอดออก และนำมาต่อ ติด ประกอบเล่นด้วยกันได้
ตัวอย่างของเล่นแบบ Loose parts
• วัสดุจากธรรมชาติ : ดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง ใบไม้ กิ่งไม้ น้ำ ทราย ดิน ใบตอง ผลไม้ ก้อนหิน ฟาง ทางมะพร้าว เมล็ดพันธุ์ ฯลฯ
• วัสดุที่ใช้แล้ว / วัสดุรีไซเคิล : กล่องลัง แกนทิชชู เชือก ถุงพลาสติก หลอด แก้วน้ำ ขวดน้ำ แปรงสีฟัน ไม้ไอศกรีม กระดุม ลูกปัด ขวดแชมพู กล่องนม ยางรถยนต์ โฟม ฟองน้ำ ฯลฯ
• ของใช้ในบ้าน : ผ้าปูโต๊ะ ผ้าห่ม หมอน โต๊ะ เก้าอี้ โซฟา เสื้อผ้า รองเท้า หมวก เครื่องสำอาง ชุดเครื่องนอน ฯลฯ
• อุปกรณ์เครื่องครัว : จาน ชาม ช้อน ครก สาก กระทะ ตะหลิว ทัพพี หม้อ กระชอน ตะแกรง แก้วน้ำ เหยือกน้ำ กล่องพลาสติกใส่อาหาร กระบอกน้ำ ฯลฯ
• อุปกรณ์การเกษตร : กระถางต้นไม้ พลั่ว จอบ เสียม สายยาง ถังน้ำ ฯลฯ
• อุปกรณ์ก่อสร้าง : อิฐเก่า กระเบื้อง ตะปู ค้อน ไม้หน้าสาม ฯลฯ
• สิ่งมีชีวิต : คน สัตว์
Loose parts Play เล่นแล้วดีอย่างไร
1. เสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ เด็ก ๆ ได้สนุกกับการนำสิ่งของที่เป็น Loose parts มาประกอบ เชื่อมโยง และประยุกต์ให้เป็นของเล่นต่าง ๆ ตามไอเดียของเขา เช่น นำกล่องลังมาทำเป็นบ้าน นำใบไม้มาสมมติเป็นผักเล่นขายของ นำแกนทิชชู ฝาน้ำอัดลม เชือก กิ่งไม้ มาประกอบรวมกันเป็นรถ นำผ้าเช็ดตัวมาคลุมทำเป็นผมยาว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็ก ๆ สนุกกับการคิดและลงมือปฏิบัติจริง ได้ใช้ความคิดที่อิสระ และเปิดกว้าง
2. เปิดโอกาสให้ค้นพบศักยภาพในตัวเอง เพราะการเล่น Loose parts เป็นการเล่นที่หลากหลาย เด็ก ๆ สามารถสนุกกับการเป็นนักประดิษฐ์ นักศิลปะตัวน้อย นักแสดงบทบาทสมมติ คนทำสวน ปลูกผัก นักสำรวจธรรมชาติ ช่างแต่งหน้า ช่างทำผม นักวิทยาศาสตร์ และกิจกรรมอีกมากมายที่เด็ก ๆ ได้สนุกไปกับสิ่งที่นำมาเล่น ซึ่งจะทำให้ได้ค้นพบและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา
3. ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัว การนำของไม่ใช้แล้ว ของเหลือใช้ หรือขยะต่าง ๆ มาประดิษฐ์ หรือนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากจะเป็นการช่วยลดขยะแล้ว ยังเป็นการสอนให้เด็ก ๆ รู้จักคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ และรู้จักนำสิ่งของเหล่านั้นกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีกครั้งด้วย
4. สร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว การที่คุณพ่อคุณแม่เข้ามามีส่วนร่วมในการประดิษฐ์ หรือเล่นร่วมกันกับลูกทำให้เกิดการใช้เวลาคุณภาพที่ดี นอกจากความสนุกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังได้เห็นพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของลูกผ่านการเล่นอีกด้วย รวมถึงได้เรียนรู้สิ่งที่ลูกสนใจ ความคิดมุมมองของลูก ซึ่งถือเป็นการดีที่คุณพ่อคุณแม่จะสามารถสอนและปลูกฝังเรื่องต่าง ๆ ให้กับลูกโดยผ่านกิจกรรมการเล่นได้
5. ประหยัด หาได้ง่าย ของต่าง ๆ ที่นำมาเล่นล้วนแล้วแต่เป็นของที่มีอยู่รอบตัว หามาได้โดยไม่เสียเงินซื้อ หรือถ้าต้องซื้อก็อาจเป็นของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ราคาไม่แพง สนุกได้แบบสบายกระเป๋าคุณพ่อคุณแม่แน่นอน
รู้จักเรื่องราวการเล่นแบบ Loose parts Play กันแล้ว คุณพ่อคุณแม่ท่านไหนนำไปเล่นสนุกกับลูก ได้ผลอย่างไรบ้าง อย่าลืมแวะมาเล่าความสนุกให้ Plan for Kids ทราบข่าวกันบ้างนะ หรือหากคุณพ่อคุณแม่ยังนึกไม่ออกว่าจะเล่นกับลูกแบบไหน อย่างไร ลองมาดูไอเดียเด็ด ๆ จากสินค้าแนะนำที่ด้านล่างนี้กันได้เลย
** แหล่งอ้างอิง : คู่มือผู้อำนวยการเล่น (PLAY WORKER) เด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก, สถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย