ตะกร้าสินค้า
cancel

My Cart

ยอดรวม

0.00 บาท

จ๊ะเอ๋... สายใยรักสร้างพัฒนาการลูก

วันที่ : 11/09/2019
remove_red_eye อ่านแล้ว : 9,785 คน
share แชร์
จ๊ะเอ๋ ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ช่วยฝึกการรอคอย เรียนรู้จดจำ และนำไปสู่การคิดวิเคราะห์


การเล่นจ๊ะเอ๋ มักจะเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเด็กๆ ได้ดีเสมอ ซึ่งภายใต้ความสนุกสนานนั้นแฝงแรงกระตุ้นมหัศจรรย์ที่ช่วยให้สมองและพัฒนาการของเด็กๆ เติบโตในหลายด้านที่ผู้ใหญ่อาจคิดไม่ถึง

• เรียนรู้ว่าสิ่งต่างๆ ยังคงอยู่แม้จะมองไม่เห็น การเล่นจ๊ะเอ๋ช่วยให้เด็กใน 2 ขวบปีแรกได้เรียนรู้ เรื่องการคงอยู่ของสิ่งต่างๆ (Object Permanence) จากการที่แม่ปิดหน้า หรือซ่อนแอบตรงไหน แล้วเดี๋ยวเดียวก็เปิดหน้าออกมาให้เห็น... เป็นเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า เด็กจะเรียนรู้ว่า แม่หายไปจากสายตาเพียงแค่ชั่วคราว และเดี๋ยวแม่ก็จะกลับมานะ

• ฝึกการจดจำข้อมูล ว่าพ่อแม่มักจะโผล่ทางไหน และคาดเดาว่าครั้งต่อไปจะเป็นทางใด

• รู้จักอดทนรอคอย ช่วงเวลาที่แม่ปิดหน้า หรือซ่อนหลังผ้า เด็กก็ต้องรอว่า เมื่อไรแม่จะเปิดหรือโผล่มา

• พัฒนาด้านการสื่อสาร เพราะการสื่อสารสำหรับเด็กเกิดขึ้น เมื่อการยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้ มองตา หรือขยับมือไม้แขนขาของเด็กทารกได้รับการตอบสนอง ดังนั้น ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นขณะที่ลูกเล่นจ๊ะเอ๋กับพ่อแม่จึงช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางการสื่อสารระหว่างกันได้อย่างดี
 

• เกิดสายสัมพันธ์ การเล่นจ๊ะเอ๋ คือช่วงเวลาที่มีลูกเป็นศูนย์กลาง การสบตา ทำเสียงสูงเสียงต่ำให้เร้าใจ ทุกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ล้วนถักทอสายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวให้แน่นแฟ้น เกิดความผูกพันในหัวใจของลูก
 

เคล็ดลับชวนลูกเล่นจ๊ะเอ๋!
 

เล่นจ๊ะเอ๋กับลูกอายุน้อยกว่า 6 เดือน

• เลือกเวลาเมื่อเด็กพร้อมเล่น
ลูกกำลังสบายตัว ไม่ใช่กำลังหิว ง่วงนอน ร้อน เหงื่อออก หรือก้นเปียกแฉะ
 
• เล่นด้วยความสนุก
ระวังเรื่องการทำเสียงดังหรือทำหน้าตา ท่าทางที่น่กลัวเกินไปจนลูกตกใจกลัวมากกว่าสนุก ให้เริ่มต้นจากการสบตา จ้องหน้า ดึงความสนใจให้ลูกมองตาม เช่น เล่นแลบลิ้น ทำเสียงตลกๆ แปลกๆ เป็นต้น เพื่อให้ลูกค่อยๆ จดจำใบหน้าของพ่อแม่ให้ได้ก่อน
 

• เล่นจ๊ะเอ๋ซ้ำๆ
ช่วยให้เด็กเริ่มเรียนรู้และจดจำได้ว่า ใบหน้าแม่ยู่แค่หลังฝ่ามือ ไม่ได้หายไปไหน ซึ่งการเล่นจ๊ะเอ๋ซ้ำไปซ้ำมายังเป็นการกระตุ้นให้พัฒนาทักษะหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสมอง อารมณ์ กล้ามเนื้อมัดเล็ก หรือการใช้ภาษาอีกด้วย

เล่นจ๊ะเอ๋กับลูกอายุมากกว่า 6 เดือน

• เล่นแบบช้าๆ และฝึกการรอคอย
ด้วยการพูดหลายๆ “จ๊ะ...” ก่อนที่จะพูดว่า “เอ๋!” แล้วเปิดฝ่ามือ เช่น จ๊ะ...จ๊ะ...จ๊ะ... เอ๋!” ถ้าเด็กรอจนแม่เปิดฝ่ามือไม่พยายามคว้ามือหรือดึงผ้าที่ปิดหน้าแม่เพื่อเปิด ก็แสดงว่าลูกเริ่มรู้จักรอคอยได้ 3 วินาทีแล้ว

• เริ่มสอนภาษา
บอกว่าเราเป็นใครเมื่อเปิดหน้า เช่น แม่เล่น พอเปิดหน้าแล้วพูดว่า “แม่” แล้วเมื่อพ่อเล่น พอเปิดหน้าให้พูดว่า “พ่อ”

• เล่นซ่อนของง่ายๆ
ใช้ผ้าปิดของเล่นแล้วให้ลูกเปิดออกดูเอง

เล่นจ๊ะเอ๋กับลูกวัยเตาะแตะ (1 - 2 ขวบ)

• ให้รอคอยนานขึ้น
ก่อนที่จะเปิดหน้า หรือโผล่มาจากที่แอบอยู่

• เล่นเกมที่ลูกสามารถคาดเดา
เช่น เกมเปิดผ้าหาของเล่น การคาดเดาผลลัพธ์ ช่วยส่งเสริมความรู้สึกภาคภูมิใจเมื่อตัวเองทำสำเร็จ เป็นไปตามที่คิดไว้

• เล่นซ่อนของที่หายากหรือไกลตัวขึ้นอีกนิด
ด้วยเด็กวัยนี้เมเดินหรือวิ่งเล่นได้ สามารถใช้ภาษาสื่อสารกับคนอื่นได้ในระดับหนึ่ง และเป็นวัยที่ชอบออกสำรวจโลกด้วยตนเอง รวมถึงการเข้าสังคม การเล่นจ๊ะเอ๋แบบเดิมอาจไม่ค่อยสนุกแล้ว จึงควรพัฒนาไปสู่การซ่อนของ หรือซ่อนหา ให้ลูกได้ออกค้นหา ซึ่งต้องอยู่ในบริเวณขอบเขตที่พอเห็นได้ ไม่ซ่อนไกลตา และไม่เป็นพื้นที่อันตราย โดยเมื่อลูกหาเจอให้แสดงความชื่นชมยินดี กระตุ้นด้วยคำพูดเชิงบวก สิ่งนี้จะช่วยให้ลูกรู้สึกตื่นเต้น และนำไปสู่การพยายามค้นหาคำตอบในเรื่องอื่นด้วยตนเอง พร้อมเผชิญกับปัญหาหรือความท้าทายที่จะยากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโตขึ้น

• ใช้ผ้าหรือกระดาษปิดภาพต่างๆ
เพื่อให้ลูกเปิดดู โดยขณะเปิดให้พ่อแม่พูดคำว่า “จ๊ะเอ๋!” แด้วย อาจจะใช้รูปหน้าคนที่แสดงความรู้สึกต่างๆ กัน เช่น ใบหน้ายิ้ม โกรธ เสียใจ เศร้า ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้ลูกเรียนรู้ใบหน้าที่แสดงอารมณ์แบบต่างๆ หรือภาพสัตว์ต่างๆ ซึ่งจะทำให้เด็กได้รู้จักชื่อสัตว์ต่างๆ เป็นต้น


ขอบคุณข้อมูลจาก จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ปีที่ 14 ฉบับที่ 196 กุมภาพันธ์ 2561