การเติบโตของลูกน้อยจากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี และก้าวเข้าสู่ปีต่อไปเรื่อย ๆ นั้น นอกจากพัฒนาการทางด้านร่างกายที่คุณพ่อคุณแม่สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนแล้ว พฤติกรรมและลักษณะนิสัยบางอย่างก็มักแสดงออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดตามแต่ละช่วงวัยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กวัย 3-5 ปี หากคุณพ่อคุณแม่รู้ทัน ทำความเข้าใจ และเตรียมรับมือกับพฤติกรรมของลูกได้ ก็จะช่วยส่งเสริมให้ลูกฉลาดคิด ฉลาดทางอารมณ์ และสามารถแสดงออกได้อย่างเหมาะสม
รู้ทัน 5 พฤติกรรมลูกน้อยวัย 3-5 ปี
►1. ดูแลช่วยเหลือตัวเองได้
ในช่วงวัยนี้ลูกน้อยเริ่มที่จะช่วยเหลือดูแลตัวเองได้บ้างแล้ว ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเอง เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว ทานอาหาร และเริ่มให้ช่วยเหลืองานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการเก็บที่นอน หยิบของ เช็ดพื้น ทิ้งขยะ ฯลฯ แม้เด็ก ๆ อาจทำช้าและไม่เรียบร้อย คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าเพิ่งหงุดหงิด หรือรีบร้อนทำให้ แต่ควรให้กำลังใจและคำชม เพื่อให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจ และอยากที่จะฝึกหัดทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง
►2. ชอบเลียนแบบ
หลายครั้งที่คุณพ่อคุณแม่มักแปลกใจกับคำพูดคำจาของลูกว่าไปเอามาจากไหนบ้าง คิดได้อย่างไรบ้าง รวมถึงพฤติกรรมบางอย่างที่แสดงออกมาก็ชวนให้ขบคิดว่า ทำไมลูกถึงทำแบบนั้นทำแบบนี้ นั่นก็เพราะลูกจดจำและเรียนรู้มาจากคนใกล้ตัวและสื่อต่าง ๆ ที่ได้ดูนั่นเอง
ช่วงวัยช่างจดจำและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แบบนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะบางครั้งที่เราอาจพูดจาหรือแสดงพฤติกรรมไม่ดีออกไป ก็ทำให้ลูกเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ นอกจากนี้ การปล่อยให้ลูกอยู่กับสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ โดยไม่ควบคุมเนื้อหาการเข้าถึง หรือปล่อยให้ดูอยู่คนเดียวโดยไม่มีผู้ใหญ่ช่วยแนะนำ ก็อาจทำให้ลูกซึมซับคำพูดและการแสดงออกที่ไม่ดีต่าง ๆ ได้
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่และคนใกล้ชิดควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก ระมัดระวังการเข้าถึงสื่อต่าง ๆ และอาจใช้สื่ออย่างนิทานมาช่วยสอนให้ลูกเข้าใจว่าสิ่งไหนควรพูด ควรทำ และสิ่งไหนไม่ควรทำ เพราะเหตุใด
►3. เอาแต่ใจ เจ้าอารมณ์
ช่วงวัยนี้ ลูกเริ่มเรียนรู้ เข้าใจ และรู้จักอารมณ์ที่หลากหลายมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถควบคุม และสื่อสารออกมาให้คุณพ่อคุณแม่รับรู้ได้อย่างเหมาะสม จึงอาจแสดงออกผ่านความก้าวร้าว เอาแต่ใจ โดยเฉพาะเด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบตามใจมากเกินไป เมื่อผิดหวัง เสียใจ ก็ยิ่งมีความรุนแรงทางอารมณ์มากขึ้น
เมื่อลูกมีพฤติกรรมเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น ไม่แสดงอารมณ์โกรธ ฉุนเฉียว พูดจาตะคอกเสียงดัง ขู่ให้ลูกกลัว หรือยอมใจอ่อนตามใจเพื่อให้ลูกหยุดพฤติกรรม แต่ควรพูดให้สั้น กระชับ สะท้อนอารมณ์ให้ลูกเข้าใจว่าสิ่งที่ลูกเป็นอยู่เพราะโกรธ น้อยใจ เสียใจ ใช่ไหม พ่อแม่รับรู้และเข้าใจนะ เมื่อลูกสงบลงจึงเข้าไปพูดคุย และช่วยกันเสนอแนวทางแก้ปัญหา โดยไม่ย้อนกลับไปดุหรือตำหนิลูกในเรื่องที่ผ่านมา
►4. ช่างจินตนาการหรือชอบโกหก
แม้ว่าการปล่อยให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์ ช่างจินตนาการ จะเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการปลูกฝังให้ลูกกล้าคิด กล้าแสดงออก แต่ในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถแยกแยะความจริงและจินตนาการได้ อาจทำให้ลูกมีพฤติกรรมการพูดเกินจริง เช่น บอกว่าตัวเองเหาะได้ ทำขนม (ปลอม ๆ) ได้ ขณะเดียวกันเมื่อลูกรู้ความมากขึ้น การพูดโกหกก็อาจเกิดขึ้นได้ด้วยหลายสาเหตุ เช่น เพื่อปิดบังความผิด เพื่อเรียกร้องความสนใจ เป็นต้น
ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องหลีกเลี่ยงการตำหนิ ดุด่า ว่าลูกโกหก แต่ควรรับฟังในสิ่งที่ลูกพูดด้วยความตั้งใจ และสอนให้ลูกเข้าใจว่าความจริงคืออะไร สร้างความใกล้ชิด ผูกพันกับลูก เพื่อให้ลูกสบายใจ กล้าที่จะพูด หรือบอกความจริงให้ฟัง เมื่อลูกทำผิดให้ลงโทษตามสมควรในความผิดนั้น แต่ไม่ดุด่า โวยวาย ไม่รับฟัง เพราะจะยิ่งทำให้ลูกไม่กล้าเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง และเลือกที่จะโกหกแทนการพูดความจริง
►5. ชอบซักถาม
แต่ละวันของลูกมีเรื่องให้สงสัยและอยากรู้มากมาย คำถามประเภท ทำไมต้องอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนี้ จึงออกมาจากปากน้อย ๆ วันละหลาย ๆ ครั้ง จนขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าหนูทำไมประจำบ้านเลยทีเดียว
เมื่อถึงช่วงวัยที่ลูกช่างถาม คุณพ่อคุณแม่ควรตอบด้วยความเต็มใจ ใช้คำพูดสื่อสารที่เข้าใจง่าย เหมาะกับช่วงวัยของลูก การแสดงท่าทางหงุดหงิด รำคาญ นิ่งเฉย หรือเลี่ยงไม่ตอบ เป็นการปิดกั้นการเรียนรู้ของลูก และอาจส่งผลให้ลูกไม่กล้าเข้าหาเพื่อพูดคุยหรือเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟังไปจนโตได้