หลายครั้งที่พ่อแม่มักปวดหัวกับการทะเลาะกันของลูกน้อย นั่งเล่นกันอยู่ดี ๆ เผลอนิดเดียว พี่ขัดใจน้อง น้องแย่งของพี่ ทะเลาะกัน ตีกันเสียงดังสนั่นบ้าน แต่ก่อนที่จะไปหาสาเหตุที่ทำให้เด็ก ๆ ทะเลาะกันอยู่บ่อยครั้ง เรามาทำความเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ๆ กันก่อนดีกว่าเข้าใจธรรมชาติลูกน้อย
• เด็กเล็กมักใช้ความคิดตัวเองเป็นใหญ่ จึงเข้าข้างตัวเองและกล่าวโทษอีกฝ่ายอยู่เสมอ
• เด็กเล็กยังแบ่งปันไม่เป็น หวงของ จึงมักเกิดการแย่งของชิ้นเดียวกัน
• เด็กเล็กยังไม่สามารถระงับอารมณ์ได้มาก จึงทำให้เกิดการโต้เถียงและเอาชนะกัน
เมื่อเข้าใจธรรมชาติของลูกน้อยแล้ว ต่อไปก็ถึงคราวมาสำรวจตัวเองของคุณพ่อคุณแม่บ้าง เพราะสาเหตุสำคัญที่ทำให้พี่น้องทะเลาะกันอยู่บ่อย ๆ นั้น เกิดขึ้นจาก " พฤติกรรมของพ่อแม่ " นั่นเอง
6 พฤติกรรมพ่อแม่...ปมเหตุพี่น้องทะเลาะกัน !!
1. ลงโทษลูกโดยใช้ความรุนแรง
เด็กเรียนรู้จากการกระทำของผู้ใหญ่ บ่อยครั้งที่พ่อแม่ลงโทษลูกด้วยการตี จึงทำให้เด็กเข้าใจว่า เมื่อมีปัญหาที่ตกลงกันไม่ได้ วิธีแก้คือ การใช้ความรุนแรง
2. พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี
เช่น พ่อแม่ทะเลาะกันรุนแรงเป็นประจำ ทำให้เด็กซึมซับและเห็นเป็นแบบอย่าง
3. พ่อแม่ไม่ยุติธรรม
การที่พ่อแม่เข้าข้าง และต่อว่า หรือลงโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจทำให้เด็กอีกฝ่ายเกิดความอิจฉา โกรธเคือง และคิดแกล้งอีกฝ่ายกลับ หรือแม้กระทั่งการตัดสินลงโทษทั้งสองฝ่าย ก็อาจทำให้เด็กโกรธ หวั่นไหว และกังวลต่อความโกรธของพ่อแม่ ซึ่งกระตุ้นให้เด็กมีอารมณ์ต่อกันมากขึ้น
4. พ่อแม่ชอบให้ลูกแข่งขันกัน
การปลูกฝังให้ลูกแข่งขัน แก่งแย่งชิงดีกันมากเกินไป ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เด็กทะเลาะกัน
5. พ่อแม่ที่บอกว่า " เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง "
บ่อยครั้งที่พ่อแม่มักเอาใจน้องและให้พี่ยอมน้อง เสียสละให้น้อง จนทำให้พี่รู้สึกน้อยใจ เพราะถูกละเมิดสิทธิบ่อย ทำให้ไม่ชอบน้อง
6. พ่อแม่ไม่ใส่ใจลูก
เมื่อครอบครัวไม่สงบสุข บ้านมีแต่ความเครียด พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก ก็ส่งผลให้เด็กไม่มีความสุข กังวล หงุดหงิด และทะเลาะกันง่าย
วิธีรับมือเมื่อพี่น้องทะเลาะกัน
1. หากเด็ก ๆ ทะเลาะกัน เถียงกันด้วยเรื่องธรรมดา คุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้ลูกหาวิธีตกลงคลี่คลายปัญหากันเอง ไม่จำเป็นต้องเข้าไปตัดสินให้ทุกครั้ง
2. หากเรื่องที่ทะเลาะกันเป็นเรื่องใหญ่ หรือมีท่าทีลุกลามใหญ่โต พ่อแม่ควรยุติเรื่องโดยไม่ตัดสินว่าใครผิดหรือถูก จัดการแยกเด็กให้ห่างกันระยะหนึ่ง รับฟังสิ่งที่แต่ละฝ่ายอยากบอก และยอมรับความรู้สึกของทั้งสองฝ่าย บอกให้เด็กทราบว่า ตอนนี้ยังตกลงกันไม่ได้ ให้หยุดเล่นด้วยกันชั่วคราว แยกไปเล่นของตัวเอง ถ้าหายโกรธกันแล้ว ค่อยมาเล่นด้วยกันใหม่
3. กรณีที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเจ็บตัว ให้แยกคนที่ถูกตีออกไปก่อน แล้วพูดปลอบว่า อีกฝ่ายก็เสียใจกับเรื่องนี้ ขณะเดียวกันเมื่อกลับมาหาฝ่ายที่ลงมือ พ่อแม่ก็ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้พูดระบาย และยอมรับความรู้สึกของเขา แต่ควรสอนให้ชัดเจนว่า การตีไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา พร้อมช่วยกันคิดหาทางออกด้วยวิธีอื่น
4. หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เด็กทะเลาะกัน เช่น กันน้องออกไปเมื่อพี่กำลังทำการบ้าน หรือพ่อแม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการเล่นกับลูกด้วย
Tips & Tricks
การปลูกฝังให้เด็ก ๆ รักกัน ไม่ทะเลาะกัน นอกจากพ่อแม่จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เข้าใจลูก มีเวลาให้ลูก ไม่เปรียบเทียบลูก และสร้างบรรยากาศครอบครัวให้อบอุ่นแล้ว การใช้สื่ออย่างนิทานมาช่วยก็เป็นอีกหนึ่งการเรียนรู้ที่เด็ก ๆ สามารถเข้าใจและซึมซับได้ดีเช่นกัน โดยเฉพาะนิทานที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับเรื่องราวของเขา
* (เรียบเรียงข้อมูลจาก แผ่นพับ “พี่น้องทะเลาะกัน” สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี)