พัฒนาภาษาลูกน้อย นิทานคำกลอนช่วยได้ ช่วยได้
เห็นหนังสือนิทานวางเรียงเต็มไปหมด แต่ตัดสินใจเลือกให้ลูกไม่ได้สักที เล่มนั้นก็ดี เล่มนี้ก็น่าอ่าน ถ้ายังตัดสินใจไม่ได้ ลองเริ่มด้วย “นิทานคำกลอน” สนุก ๆ สักหลาย ๆ เล่ม ก็คงจะดีไม่น้อยเลย
ทำไมต้อง “นิทานคำกลอน”
เพราะสมองของเด็กเล็กไวต่อการรับรู้เสียงที่มาพร้อมกับจังหวะและทำนอง จึงเป็นโอกาสทองของคุณพ่อคุณแม่ในการวางรากฐานด้านภาษาให้ลูกน้อย และเนื่องจากสมองส่วนที่ทำการรับเสียงและรับภาพมีการทำงานร่วมกัน การใช้หนังสือนิทานควบคู่ไปกับการอ่าน จึงทำให้เด็กสามารถเชื่อมโยงเสียงเข้ากับภาพและตัวอักษรเพื่อสร้างความหมายในการรู้ภาษาและการสื่อสาร เมื่อเด็กได้ฟังเสียงอ่านและตามองเห็นภาพพร้อมตัวอักษรซ้ำ ๆ สมองก็จะเกิดการจดจำ และสามารถถอดแบบแผนของเสียงที่สัมพันธ์กับแบบแผนของการสะกดได้
นอกเหนือจากการใช้นิทานคำกลอน คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกทักษะทางภาษาให้ลูกเกิดการฟังซ้ำ เรียนรู้ และจดจำได้ ผ่านบทกลอน คำคล้องจอง บทสัมผัส เพลงกล่อมเด็ก หรือบทเพลงร้องเล่นต่าง ๆ เช่น
♦ แมงมุม ขยุ้มหลังคา แมวกินปลา หมากัดกะพุ้งก้น ♦
♦ โยกเยกเอย น้ำท่วมเมฆ กระต่ายลอยคอ อ้ายหมาหางงอ กอดคอโยกเยก ♦
♦ ช้าง ช้าง ช้าง น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่า ♦
ช้างมันตัวโตไม่เบา จมูกยาว ๆ เรียกว่า งวง
มีเขี้ยวใต้งวงเรียกว่า งา มีหู มีตา หางยาว
♦ จับ ปู ดำ ขยำ ปู นา ♦
จับ ปู ม้า คว้า ปู ทะเล
วิ่ง ไม่ ทัน หก ล้ม ขา เป๋
เหมือน ปู ทะเล ยัก เย่ ยัก ยัน
Tips & Tricks
ถ้าอยากให้สมองของลูกรับรู้แบบแผนของเสียงได้อย่างรวดเร็ว ก็ควรเลือกนิทานที่มีเนื้อหาสนุก ตลก จดจำง่าย จังหวะชวนฟัง และที่สำคัญการฟังจากหนังสือเพียงไม่กี่เล่ม ไม่อาจสร้างทักษะให้เกิดขึ้นได้ทันที จึงจำเป็นต้องเลือกหนังสือภาพนิทานคำกลอนจำนวนหลายเล่ม เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสฟังซ้ำ ๆ อย่างหลากหลาย
* แหล่งอ้างอิง : หนังสือ สอนภาษาต้องเข้าใจสมองเด็ก, สถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.)