⇔ อ่าน-เขียนสนุก...เตรียมพร้อมลูกน้อยก่อนเข้าวัยเรียน ⇔
ช่วงวัย 2-5 ปี นับว่าเป็นวัยทองทางด้านภาษาของเด็ก ๆ หากได้รับการส่งเสริมที่ถูกต้องและเพียงพอก็จะทำให้การเรียนรู้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยทักษะแรกเริ่มทางด้านภาษาที่เห็นได้ชัดมาตั้งแต่เกิด คือ ทักษะการฟังและการพูด ที่เด็ก ๆ จะ พัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามการเจริญเติบโตในแต่ละช่วงวัย จนสามารถสื่อสารสร้างความเข้าใจกับคุณพ่อคุณแม่และคนใกล้ชิดได้แบบค่อยเป็นค่อยไป
ทักษะถัดมาที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “ทักษะการอ่านและการเขียน” คุณพ่อคุณแม่อาจเห็นว่าลูกยังเล็ก ยังไม่ถึงวัยเข้าเรียน จึงไม่เห็นความจำเป็นในการฝึกสองทักษะนี้ แต่ในความเป็นจริง ทักษะการอ่านและการเขียนสามารถจัดกระบวนการฝึกเพื่อเตรียมความพร้อมควบคู่ไปกับทักษะการฟังและการพูดของลูกในช่วงวัยนี้ได้เลย
► รู้ได้อย่างไรลูกพร้อมอ่านเขียน
คุณพ่อคุณแม่สามารถดูจากกิริยาท่าทางของลูกที่แสดงออกถึงความสนใจ ความต้องการ และความกระตือรือร้นที่จะอ่านและเขียนด้วยความเต็มใจ เช่น การที่ลูกหยิบหนังสือต่าง ๆ มาเปิดดู ทำท่าทางอ่านหนังสือ ขอให้คุณพ่อคุณแม่เล่านิทานให้ฟัง หยิบจับปากกา ดินสอ สี มาวาดรูป ระบายสี หรือทำท่าทางเล่นเขียนหนังสือ เป็นต้น
ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเพื่อเตรียมความพร้อมด้านอ่านเขียน
1. คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่บังคับ ควบคุม แต่ควรเป็นฝ่ายสร้างแรงจูงใจให้ลูกอยากเรียนรู้และทำกิจกรรมด้วยความเต็มใจ
2. กิจกรรมที่จัดขึ้นควรสอดคล้องกับธรรมชาติ พัฒนาการ และกิจกรรมที่ลูกสนใจในชีวิตประจำวัน เช่น กิจกรรมการเคลื่อนไหว การร้องเพลง ฯลฯ
3. เปิดโอกาสให้ลูกเลือกทำกิจกรรมด้วยตัวเอง และให้ลูกมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมมากที่สุด โดยคุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และกระตุ้นให้ลูกสนใจ
ตัวอย่างกิจกรรม
• กิจกรรมฝึกกล้ามเนื้อมือ เช่น วาดรูป ระบายสี ลากเส้น เล่นดินน้ำมัน ตัด พับ ปะ ฉีกกระดาษ ต่อจิ๊กซอว์ เล่นบล็อกไม้ หรือการให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเอง เช่น ใส่เสื้อผ้า หยิบของ แปรงฟัน ช่วยทำงานบ้าน ทำกับข้าว ทำขนม ปลูกต้นไม้ เป็นต้น
• กิจกรรมการเล่นบทบาทสมมติ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจนำของที่มีในบ้านมาประยุกต์เป็นของเล่น หรือซื้อหาชุดของเล่นต่าง ๆ เพื่อมาเล่นสนุกกับลูก การเล่นแบบนี้นอกจากจะช่วยพัฒนาด้านภาษา เพิ่มพูนคำศัพท์ ฝึกการสนทนาโต้ตอบ ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว เด็ก ๆ ยังได้เคลื่อนไหวร่างกาย พัฒนากล้ามเนื้อและอวัยวะต่าง ๆ ให้แข็งแรงมากขึ้นอีกด้วย
• กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เช่น อ่านนิทาน อ่านป้ายประกาศ อ่านยี่ห้อขนม อ่านคำเตือนต่าง ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว คุณพ่อคุณแม่สามารถชี้ชวนจูงใจให้เด็ก ๆ ฝึกการอ่านไปพร้อมกันได้เลย
• กิจกรรมเข้าจังหวะ เช่น ร้องเพลง ท่องนิทานคำกลอน รวมถึงการเล่นของเล่นที่เป็นเครื่องดนตรี หรือ ของเล่นประเภทที่ทำให้เกิดเสียงหรือจังหวะ
ข้อควรระวัง
กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการเตรียมความพร้อมทักษะด้านอ่านเขียนให้ลูกเท่านั้น ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรบังคับหรือจริงจังในการให้ลูกอ่านหนังสือ ท่องจำ ฝึกเขียนตัวอักษร หรือฝึกสะกดคำ เพราะการเร่งเรียนมากเกินไปอาจส่งผลเสียทำให้ลูกเกิดความเครียดและมีทัศนคติไม่ดีต่อการเรียนรู้ภาษาได้
ข้อมูลอ้างอิง : บทความ “ความสนใจในการอ่านและการเขียนของเด็กปฐมวัย” (Reading and Writing Interest of Young Children) โดย อาจารย์ นิติธร ปิลวาสน์ ศึกษานิเทศก์