มังกรน้อยรู้สึกโกรธมาก เขาพ่นไฟใส่สิ่งต่าง ๆ แม้กระทั่งตัวเขาเอง แล้วเขาก็ได้เรียนรู้ว่า ความโกรธสามารถทำลายล้างได้ทุกอย่าง ทั้งสิ่งของ ตนเอง หรือแม้แต่คนอื่น แต่สิ่งที่ง่ายและวิเศษที่สุดที่สามารถจัดการกับความโกรธได้ ก็คือ ‘การกอด’ นั่นเอง นิทานเล่มนี้จะสอนให้เด็กๆ รู้จักกับความโกรธ และแนะนำคุณพ่อคุณแม่ถึงวิธีการระดับความโกรธของเด็กๆ ค่ะ
“กอด” ละลาย “โกรธ”
(คำแนะนำจากหมอเสาวภา เพจเลี้ยงลูกเชิงบวก) แนะนำวิธีรับมือเวลาที่เด็กโมโหไว้ดังนี้ค่ะ
สิ่งที่ผู้ปกครองควรทำคือ
1. ถ้าอารมณ์ลูกเพียงแค่ครุกรุ่น พอจะฟังกันได้ ช่วยลูกด้วยการพูดสะท้อนความรู้สึกเขา เพื่อให้เขารู้ว่า เราเข้าใจ เช่น “พ่อรู้ว่า ลูกโกรธที่ยายไม่ให้จับลูกหมาแรงๆ” เด็กบางคนรู้สึกดีเมื่อมีคนเข้าใจ ก็อาจสงบลงเองได้เลย
2. แต่บางคนอาจไม่สามารถดึงอารมณ์ตัวเองลง แม้จะมีคนเข้าใจแล้ว เราจึงควรช่วยลูกควบคุมตนเองด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การนับเลขพร้อมกัน “แม่จะช่วยลูกสงบนะคะ เรามาสูดหายใจเข้า-ออกช้าๆพร้อมกัน นับพร้อมแม่นะ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12...... ”
ท่าทีของเราที่อยากช่วยลูก ทำให้ลูกรู้สึกดี ส่วนขั้นตอนการนับเลขและสูดหายใจเข้า-ออกลึกๆ ทำให้ลูกค่อยๆเปลี่ยนจุดโฟกัสมาที่การนับเลขแทน
3. แต่หากอารมณ์ของลูก เลยจุดนั้นมาแล้ว เช่น ลูกก้าวร้าว อาละวาด ขว้างของ ทำร้ายร่างกาย หมอแนะนำให้เราช่วยลูกด้วยวิธี “กอดด้วยรัก”
พ่อแม่ที่จะเข้ามา “กอดด้วยรัก” ต้องใจเย็น อ่อนโยน และเมตตา เพราะแรงกอดที่รวบตัวลูกอยู่นั้นก็จะสื่อพลังบวกออกมาแบบเดียวกัน
แต่หากพ่อแม่กอดลูกเพราะโกรธที่ลูกทำร้ายคนอื่นหรืออาละวาด และต้องการกอดให้อยู่หมัด แรงที่รวบตัวลูกไว้ จะแข็งกระด้าง รุนแรงและไร้ซึ่งพลังบวกเลย
หมอเชื่อมั่นในพลัง “ความรัก” ของพ่อแม่ค่ะ
ยิ่งกอดด้วยรัก ก็ยิ่งอบอุ่น ยิ่งเมตตา ก็จะยิ่งบรรเทา และมันจะละลายพลังลบของความโกรธลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายจะเหลือเพียงน้ำตาและเสียงร้องไห้ที่แสดงถึงความเสียใจและน้อยใจพ่อแม่แทน
(ถ้าใครเคยกอดลูกตอนโกรธมากๆแบบนั้น สังเกตดูนะคะ ช่วงแรกลูกจะร้องแบบรุนแรง แต่ช่วงหลังๆจะเปลี่ยนเป็นร้องไห้แบบเสียใจแทน)
เมื่อพายุสงบ ก็ค่อยมาปรับความเข้าใจกัน และมองหาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นสาเหตุของความโกรธนั้นค่ะ^^
(อ่านต้นฉบับ : https://www.facebook.com/PositiveparentingDr.saowapa/posts/481465785311008/ )
(ฉบับรีพิมพ์จากนิทานเพื่อนรักปีที่ 19 ฉบับที่ 113 เดือน สิงหาคม 2563)
หนังสือเล่มนี้ได้รางวัล : โครงการหนังสือเล่มแรก Bookstart พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ