เมื่อสื่อออนไลน์กลายเป็นปัจจัยที่ 6 ในชีวิตของคนส่วนใหญ่ แต่จะต้องไม่ใช่กับเด็กและเยาวชน... โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยช่วงแรกเกิด - 6 ปี !
สถิติที่เด็กใช้สื่อออนไลน์ในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นทุกปี พบว่าเริ่มใช้กันตั้งแต่อายุน้อย ๆ โดยนับวันก็ยิ่งเด็กลง ๆ ทุกที ไม่ถึงขวบก็โตมากับจอเสียแล้ว ทั้งนี้เพราะพ่อแม่ผู้ใหญ่ขาดความรู้เท่าทันสื่อ และเลือกใช้ไอทีเพราะทั้งดูฟรี มีเยอะ มือถือแท็บเล็ตถูก เด็กเพลิน ดูแล้วนิ่ง ฯลฯ
เหตุผลไม่กี่ข้อเหล่านี้กำลังสร้างปัญหาชีวิตให้ทั้งตัวเด็กและพ่อแม่หลาย ๆ บ้านในระยะยาว ผลเสียจากการให้เด็กใช้สื่อไอทีตามลำพังเกินพอดีมีอะไรบ้างที่ผู้ใหญ่ต้องรู้
1. ตัวเตี้ย สมองไม่พัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพถ้าอดนอน
อ่านไม่ผิดค่ะ...งานวิจัยพบว่า เด็กที่ติดจอ ดูมากจนไม่หลับไม่นอน ไม่เข้านอนตามเวลาหรือนอนหลับแบบไม่มีคุณภาพ ส่งผลโดยตรงต่อสมองที่จะไม่เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะกระทบต่อกระบวนการหลั่งสารเคมีต่าง ๆ
2. สูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ภาษา ทั้งภาษาพูดและภาษาท่าทาง (อวัจนะภาษา)
เด็กอยู่ในวัยกำลังเรียนรู้ แต่เมื่อขาดปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง จึงขาดโอกาสที่จะได้สื่อสารในโลกความเป็นจริง
3. ขาดการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม
เด็กควรเรียนรู้แบบกลุ่มมากกว่าแยกตัวโดดเดี่ยว ซึ่งการจดจ้องจอเป็นประจำทำให้เด็กไม่ได้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ที่จะได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือที่จะได้กระตุ้นจินตนาการและการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเด็กเป็นวัยที่ต้องเรียนรู้แบบลงมือกระทำผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า
4. ก้าวร้าว แสดงออกไม่เหมาะสมมากขึ้น
เด็กเปรียบเหมือนผ้าขาว ได้ยิน ได้เห็นอย่างไร ก็ซึมซับรับเข้ามาเป็นบุคลิกภาพโดยไม่รู้ตัว สื่อออนไลน์มีข้อมูลปริมาณมหาศาล เข้ามาถึงตัวเด็กได้ง่ายแต่ควบคุมได้ยาก จึงมีโอกาสที่จะรับสื่อที่ไม่เหมาะสมได้ง่าย
การตระหนักถึงภัยของสื่อออนไลน์ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ยุคไอทีต้องรู้เท่าทันให้มากกว่าลูก
ใช้สื่อยังไงให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก
เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ควรมีกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวหลายครั้งต่อวัน โดยเฉพาะการเล่นบนพื้น หากยังเคลื่อนไหวได้ไม่ดี ควรมีการนอนคว่ำแบบตะแคงหน้าอย่างน้อยครั้งละ 30 นาทีหลายครั้งต่อวัน ในช่วงเวลาที่ตื่น ไม่ควรให้นั่งนิ่งๆหรือล็อคติดกับรถเข็นเด็กนานเกิน 1 ชั่วโมง นอนหลับรวม 14-17 ชั่วโมง ในเด็ก 0-3 เดือน และ 12-16 ชั่วโมง ในเด็ก 4-11 เดือน
Ø ไม่ควรใช้หน้าจออย่างเด็ดขาดทั้งโทรทัศน์และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ
สำหรับในเด็กอายุ 1-2 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 180 นาทีต่อวันหรือมากกว่า ไม่ควรให้นั่งนิ่งๆ หรือล็อคติดกับเก้าอี้หรือรถเข็นเด็กนานเกิน 1 ชั่วโมง ควรนอนหลับรวม 11-14 ชั่วโมงต่อวัน
Ø ไม่ควรใช้หน้าจออย่างเด็ดขาดในเด็กอายุ 1 ปี สำหรับในเด็กอายุ 2 ปี ควรจำกัดเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน ยิ่งใช้เวลาหน้าจอน้อย ยิ่งส่งผลดีต่อเด็ก
และในเด็กอายุ 3-4 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 180 นาทีต่อวันหรือมากกว่า โดยเป็นกิจกรรมที่ใช้พลังงานอย่างมากนานไม่ต่ำกว่า 60 นาที ไม่ควรให้นั่งนิ่งๆ หรือล็อคติดกับเก้าอี้หรือรถเข็นเด็กนานเกิน 1 ชั่วโมง ควรนอนหลับรวม 10-13 ชั่วโมงต่อวัน
Ø ควรจำกัดเวลาหน้าจอไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน ยิ่งใช้เวลาหน้าจอน้อย ยิ่งส่งผลดีต่อเด็ก
พ่อแม่จึงควรชักชวนให้ลูกเล่นมากขึ้นแทนการอยู่หน้าจอ การเล่นของเด็กจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาความฉลาดทางปัญญา อารมณ์ และสังคมไปพร้อมๆ เน้นการส่งเสริมกระตุ้นให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น อ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้เด็กฟังในเด็กเล็ก เล่นบทบาทสมมติโดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัว เล่นต่อเพลงหรือต่อนิทานคนละประโยค เล่นของเล่นอย่างอิสระ ออกไปสัมผัสธรรมชาติภายนอก นอกจากนั้น ควรฝึกให้ลูกรู้จักการสังเกต รู้จักตั้งคำถาม และคอยตอบคำถามของลูกด้วยความรักและความใส่ใจ ภายใต้บรรยากาศอันอบอุ่นและปลอดภัยของครอบครัว
ทั้งนี้ การส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดี ควรทำตั้งแต่ในเด็กเล็ก เพื่อให้เกิดพฤติกรรมติดตัวที่จะส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต
ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต
ข้อมูลจาก คู่มือการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์และการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน สำหรับพ่อแม่ ครู และครอบครัว โดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์