เด็กในวัย 3 ขวบปีแรก พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะเด็กจะรับรู้ เรียนรู้ เลียนแบบ และเชื่อมโยงกับโลกภายนอกรอบๆ ตัวจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และผู้เลี้ยงดู ซึ่งผู้ใหญ่สามารถเตรียมให้เด็กออกสู่โลกกว้างได้อย่างมั่นใจ เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข ได้ดังนี้
1. ส่งเสริมให้เด็กฝึกปฏิบัติการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน เช่น การบอกชื่อตนเอง การบอกความต้องการของตนเอง การแต่งกาย การรับประทานอาหาร
2. ส่งเสริมให้เด็กเชื่อมั่นในตนเอง ด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำอะไรด้วยตนเอง แม้จะสกปรกเลอะเทอะบ้าง ไม่ถูกใจพ่อแม่ก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการบังคับ ขู่เข็ญ หรือทำโทษรุนแรงแต่ใช้วิธีอบรมสั่งสอนด้วยความเข้าใจ สนใจ ชมเชย เมื่อเด็กทำสิ่งที่ควร และช่วยเหลือเมื่อเด็กต้องการ
3. ส่งเสริมให้เด็กรู้จักฟัง เรียบเรียงความคิด ฝึกการใช้ภาษา ด้วยการถามให้เด็กแสดงความคิดเห็น พูดถึงเรื่องราวหรือแสดงท่าทางตามที่เด็กเข้าใจ หลังจากที่เด็กได้พบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ หรือจากที่พ่อแม่เล่านิทานให้ฟัง
4. ส่งเสริมให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง ด้วยการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ด้วยความรักและเข้าใจ ซึ่งจะทำให้เด็กมีโอกาสโต้ตอบ สร้างความคุ้นเคย ทำให้เกิดความรักความผูกพัน และรู้สึกได้รับความรัก
5. ส่งเสริมให้เด็กรู้สึกสนุก มีความสุขกับการกระทำที่สร้างสรรค์ ด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่น ได้เรียนรู้ และฝึกทำสิ่งต่างๆ ในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร และปลอดภัย
6. ส่งเสริมให้เด็กเป็นผู้มีความเป็นมิตร และเป็นที่ยอมรับในสังคมได้ง่าย ด้วยการยิ้มแย้ม สัมผัสเด็กอย่างอ่อนโยน คอยสังเกตการแสดงออกของเด็ก สนใจที่จะตอบคำถามและเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับเด็ก เพื่อให้เด็กเรียนรู้ภาษาได้เร็ว และมีกำลังใจ ใฝ่รู้ใฝ่เรียน
7. ส่งเสริมให้เด็กมีจิตใจมั่นคง ไม่สับสน ด้วยการอบรมเลี้ยงดูด้วยความรัก ความเมตตา เป็นแบบอย่างที่ดีงามในการใช้เหตุผล อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ฝึกให้เป็นคนรู้จักคิด มีนํ้าใจและคุณธรรม อย่าละเลยทอดทิ้งเด็ก ใช้เวลาอย่างมีคุณภาพอยู่กับเด็ก ให้ความสนใจต่อกัน ปฏิบัติต่อกันด้วยความรัก ความเข้าใจ
8. ส่งเสริมให้เป็นเด็กใฝ่รู้ กล้าแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกอย่างเหมาะสมตามกาลเทศะ ด้วยการให้ความสนใจในสิ่งที่เด็กกำลังทำ ตอบคำถามเด็ก ฝึกให้เด็กสังเกตสิ่งต่างๆรอบตัว ให้โอกาสที่จะแสดงความรู้สึกนิกคิดของตนเองอย่างเต็มที่ เปิดโอกาสให้ลองผิดลองถูกในโอกาสที่ไม่เสียหายและอันตราย
9. ส่งเสริมให้เด็กเกิดแรงจูงใจที่จะทำสิ่งที่ดีๆ ด้วยการให้ความสนใจ ชมเชยหรือให้รางวัลตามสมควรทันทีที่เด็กมีพฤติกรรมที่พึงปรารถนา เช่น ไหว้ผู้ใหญ่ เล่นกับน้อง ช่วยหยิบของ พูดเพราะ รับฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำ
10. ส่งเสริมการใช้ภาษาของเด็ก ด้วยการพูดคุยกับเด็กด้วยภาษาที่ฟังเข้าใจง่ายและชัดเจน ด้วยท่าทางที่เป็นมิตร อาจใช้การเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ฟัง เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟัง
11. เตรียมเด็กเข้าสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูสามารถช่วยเตรียมความพร้อมให้เด็กที่จะไปเรียนรู้โลกกว้างได้ ด้วยการส้รางทัศนคติที่ดีต่อสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ด้วยการเล่าเรื่องเกี่ยวกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ฟัง พาไปรู้จักกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้เด็กๆ ไปอยู่ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยก่อนที่จะเข้าเรียน ไปเล่นเครื่องเล่น โดยไม่ขู่เด็กว่า ถ้าทำตัวไม่ดีจะทิ้งเด็กไว้ที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย นอกจากนี้ ควรสร้างทัศนคติที่ดีต่อผู้เลี้ยงดู ด้วยการพูดคุยกับเด็ก ถ้าเป็นไปได้ ควรทำความคุ้นเคยรู้จักกับผู้เลี้ยงดูก่อนพาเด็กไปดูการจัดกิจกรรมในสถานพัฒนาเด็ก
เรียบเรียงจาก หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 กระทรวงศึกษาธิการ