ตะกร้าสินค้า
cancel

My Cart

ยอดรวม

0.00 บาท

การเรียนรู้ตามแนวคิดไฮสโคป High Scope

วันที่ : 11/09/2019
remove_red_eye อ่านแล้ว : 16,625 คน
share แชร์

ทฤษฏีการเรียนรู้ของเด็กมีแนวคิดหลากหลายแบบ “ไฮสโคป” คืออะไร ทำไมรัฐจึงจัดให้มีห้องเรียนนำร่องทั่วประเทศในโรงเรียนอนุบาลประจำอำเภอและประจำจังหวัดในปีการศึกษา 2562

ทฤษฏีนี้ริเริ่มโดย ดร.เดวิด ไวคาร์ท ร่วมกับนักวิชาการทำการวิจัยศึกษาเปรียบเทียบเด็กปฐมวัย 3 กลุ่ม ซึ่งเรียนรู้ตามแนวทางที่แตกต่างกันคือ กลุ่มที่ครูสอนโดยตรง กลุ่มที่อยู่ในเนอร์สเซอรี่แบบเดิม และกลุ่มไฮสโคป ติดตามตั้งแต่เล็กจนถึงอายุ 29 ปี ผลวิจัยแสดงให้เห็นว่า เด็กกลุ่มที่เรียนด้วยแนวไฮสโคปนั้นพบปัญหาพฤติกรรมทางสังคมและอารมณ์น้อยกว่า 2 กลุ่มแรก เป็นผลพิสูจน์ว่าการศึกษาตามแนวทางนี้ช่วยป้องกันอาชญากรรม เพิ่มพูนความสำเร็จทั้งการศึกษาและการดำเนินชีวิตได้

หัวใจของไฮสโคปเน้นให้เด็กเรียนรู้แบบลงมือทำผ่านการเล่น ด้วยสื่อและกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการ เพื่อให้เด็กมีประสบการณ์ตรงกับคน สิ่งของ เหตุการณ์ และความคิด ส่งเสริมให้รู้จักคิดวิเคราะห์ได้และคิดสร้างสรรค์เป็น สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างกระตือรือร้น โดยครูจะเป็นผู้สนับสนุนให้เด็กเกิดกระบวนการ วางแผน – ลงมือทำ – และทบทวน (Plan – Do - Review)

 


ภาพจากเว็บไซต์
https://edragoo1andhighscope.wordpress.com/2014/03/01/highscope-approach-in-my-classroom/


หัวใจของไฮสโคป
ประกอบด้วยกระบวนการ 3 กระบวนการ อันได้แก่


1. การวางแผน (Plan) เป็นการให้เด็กกำหนดแนวทางการปฏิบัติ หรือการดำเนินงานตามงานที่ได้รับมอบหมายหรือตามสิ่งที่ตัวเองสนใจ โดยคุณครูจะต้องเปิดโอกาสให้เด็กสนทนากับครู หรือสนทนาระหว่างเพื่อนด้วยกัน เพื่อวางแผนการทำงานอย่างเหมาะสม ว่าจะทำอะไร อย่างไร การวางแผนกิจกรรมนี้เด็กต้องมีโอกาสเลือกและตัดสินใจ ซึ่งอาจจะบันทึกด้วยภาพหรือสัญลักษณ์ประจำตัวเด็กหรือบอกให้ครูช่วยบันทึกก็ได้ ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยส่งเสริมความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเองของเด็กและความรู้สึกในการควบคุมตนเอง ทําให้เด็กสนใจในกิจกรรมที่ตนเองได้วางแผนไว้

2. การปฏิบัติ (Do) คือ การให้เด็กลงมือทำกิจกรรมตามแผนที่วางไว้อย่างอิสระตามเวลาที่กำหนด โดยเน้นให้เด็กได้ช่วยกันคิด ทดลองและแก้ปัญหาร่วมกันอย่างมีจุดมุ่งหมาย ได้เรียนรู้ตามประสบการณ์ ค้นพบความคิดใหม่ๆ โดยคุณครูจะทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะและให้คำแนะนำ มากกว่าจะลงไปจัดการด้วยตัวเอง 

3. การทบทวน (Review) คือกระบวนการที่ให้เด็กสะท้อนผลงานของตัวเองที่ได้ลงมือทำผ่านการพูดคุยหรือแสดงผลต่างๆ เพื่อทบทวนว่าตนเองนั้นได้ปฏิบัติงานตามแผนที่ได้วางไว้หรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กได้เชื่อมโยงแผนการปฏิบัติงานกับผลงานที่ทำ รวมถึงการเล่าประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้ลงมือทำด้วยตนเอง

 
วงล้อแห่งการเรียนรู้ของไฮสโคปคือ เมื่อเด็กได้ “เรียนรู้แบบลงมือทำ” เด็กจึงจะสร้างองค์ความรู้ได้ ตั้งแต่การมีส่วนเลือกและตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ เอง วิธีนี้เด็กจะเกิดการเรียนรู้มากกว่าการเป็นฝ่ายรับ การมี “ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น” ทั้งกับครูและเพื่อน ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน จึงมีโอกาสแก้ปัญหาต่าง ๆ “การจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้” ให้เด็กมีสื่อให้เล่นอิสระ หลากหลายและเพียงพอ การมี “กิจวัตรประจำวัน” จะทำให้เด็กได้พบประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะประสบการณ์เป็นส่วนหนึ่งของความรู้ที่เด็กจะได้รับเมื่อผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ นั่นเอง จากนั้นจะเป็นขั้นตอนของคุณครูที่เป็นผู้ทำ “การประเมิน” พัฒนาการเด็ก

ในเมืองไทย สพฐ. ได้วิจัยการสอนแนวนี้มาตั้งแต่ปี 2554 และปีนี้พร้อมประกาศใช้ไฮสโคปกับห้องเรียนนำร่องในโรงเรียน 82 แห่งทั่วประเทศ ก่อนจะขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต


อ้างอิง : “การศึกษาปฐมวัย” หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

Writer : Timmy
Photo : 123rf.com