ตะกร้าสินค้า
cancel

My Cart

ยอดรวม

0.00 บาท

Superdad Supermom

วันที่ : 20/10/2021
remove_red_eye อ่านแล้ว : 2,973 คน
share แชร์
Superdad Supermom
ดูแลลูกน้อยปลอดภัย ห่างไกลอันตราย

ลูกน้อยในช่วงก่อนวัยเรียน และวัยอนุบาลมักมีความอยากรู้ อยากลอง อยากสำรวจสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่คุณพ่อคุณแม่ควรสนับสนุน และเปิดกว้างให้ลูกได้สนุก และเรียนรู้จากสิ่งที่เขาสนใจ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องระวัง คือ “ความปลอดภัย” เพราะเด็กในช่วงวัยนี้ ยังขาดความยั้งคิด รอบคอบ และระมัดระวัง จึงมักส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย ไปจนถึงเรื่องอันตรายร้ายแรงได้เลยทีเดียว ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงมีหน้าที่สำคัญในการ “ดูแล ปกป้อง และสอน” ให้ลูกน้อยปลอดภัย ห่างไกลจากอันตรายต่าง ๆ ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้
 
⇒ แนวทางดูแลสำหรับคุณพ่อคุณแม่
   • ไม่ปล่อยให้ลูกคลาดสายตา แต่ควรอยู่ใกล้ชิดในระยะที่มองเห็น และสามารถเข้าถึงตัวลูกได้ทันทีหากมีอะไรเกิดขึ้น
   • ไม่ควรวางใจฝากลูกไว้กับคนที่ไม่คุ้นเคยตามลำพัง แม้เพียงระยะเวลาไม่นานก็ตาม 
   • ไม่ปล่อยลูกเล่นกันตามลำพัง แต่ควรเฝ้าระวังอยู่ในจุดที่มองเห็นพวกเขาเล่นด้วยกันได้อย่างชัดเจน
   • ควรเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน
   • ควรมีข้อมูลเบอร์โทรติดต่อสถานพยาบาลใกล้เคียง หน่วยฉุกเฉินทางการแพทย์ หรือศูนย์ช่วยเหลือต่าง ๆ
 
⇒ แนวทางปกป้องจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย
   • จัดพื้นที่ในบ้านให้ปลอดภัย เช่น ทำประตู หรือที่กั้นระหว่างบันได ระเบียง ห้องน้ำ ห้องครัว เพื่อแยกลูกออกจากพื้นที่เสี่ยงอันตราย 
   • เครื่องใช้เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ จัดวาง ยึดติดให้มั่นคง ไม่เสี่ยงต่อการเอนล้ม รวมถึงมุมโต๊ะ ขอบเหลี่ยม เต้าเสียบ ปลั๊กไฟ ก็ควรมีที่ครอบกันไว้
   • จัดเก็บอุปกรณ์เครื่องใช้ ของมีคม วัตถุไวไฟ ยา สารเคมี ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุให้พ้นมือลูก เช่น เตารีด กระติกน้ำร้อน มีด กรรไกร น้ำยาซัก  ผ้า แอลกอฮอล์ ไม้ขีดไฟ ฯลฯ
   • หลีกเลี่ยงการซื้อของเล่นที่มีเศษชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของเล่นที่มีความแหลมคม หรือมีความแรง เช่น ปืนอัดลม พลุ ดอกไม้ไฟ รวมทั้งไม่ให้เด็กอายุน้อย  กว่า 5 ปี เล่นอุปกรณ์ที่ต้องใช้ทักษะการทรงตัวบนลูกล้อ เช่น สเกตบอร์ด รองเท้ามีล้อ นอกจากนี้ ควรเลือกซื้อของเล่นที่ได้มาตรฐาน และผ่านการรับรองเรื่องความปลอดภัย
   • พื้นที่นอกบ้านที่เสี่ยงต่ออันตรายควรทำที่กั้น ที่ปิด หรือซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ดี เช่น บ่อน้ำ ท้องร่อง พื้นทางเดิน ประตูกั้นระหว่างบ้านกับถนน
   • ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Child Car Seat) ให้เหมาะตามอายุเมื่อเดินทางโดยรถยนต์ และเมื่อเดินถนน ควรจับมือลูกให้กระชับ มั่นคง และให้ลูกเดินด้านใน
 
⇒ แนวทางสอนลูกน้อยให้ระวัง ป้องกัน และหลีกเลี่ยงอันตราย
   • สอนให้ลูกรู้จักจุดเสี่ยง และอันตรายที่เกิดขึ้นได้ง่าย เช่น การเล่นปลั๊กไฟ เล่นใกล้แหล่งน้ำ เล่นของมีคม จับของร้อน การวิ่งข้ามถนนคนเดียว การรับของจากคนแปลกหน้า โดยอาจยกตัวอย่างจากข่าว คนใกล้ตัว หรือจากนิทานที่เล่าให้ลูกฟัง 
  • สอนให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเอง และฝึกทักษะเพื่อความปลอดภัย เช่น ฝึกให้ลุกขึ้นยืนได้ในน้ำ เมื่อตกน้ำที่ตื้นกว่า 2 ใน 3 ของความสูง ฝึกให้ลูกลอยตัวในน้ำ ว่ายน้ำ หรือฝึกขี่จักรยาน โดยสวมหมวกนิรภัย หรือใส่อุปกรณ์ป้องกันตัว
  • สอนให้ลูกรู้จักปกป้องร่างกายตัวเอง ระมัดระวัง และวางตัวกับคนแปลกหน้าอย่างเหมาะสม รวมทั้งกล้าบอกเมื่อมีใครมาทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม เช่น สัมผัสร่างกายในส่วนที่ควรปกป้องโดยเฉพาะหน้าอก ก้น และอวัยวะเพศ
  • สอนให้ลูกรู้จักการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้วิธีการพูดคุย สร้างสถานการณ์ขึ้นมา เพื่อถามความคิดเห็น และช่วยกันคิดหาทางออก เช่น เมื่อเพื่อนแย่งของเล่น หรือโดนแกล้ง
 
 
Tips & Tricks

♦ ในการสอนทำความเข้าใจกับเด็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีการได้หลายรูปแบบ เช่น 
    -  ยกตัวอย่างจากเหตุการณ์จริง เช่น ข่าว หรือเรื่องของคนรู้จัก คนใกล้ตัว
    -  กำหนดสถานการณ์สมมติ สร้างบทสนทนา เพื่อให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น และคุณพ่อคุณแม่ก็ได้ช่วยคิด แนะนำ แบ่งปันข้อมูลในเรื่องอุบัติเหตุ
 
♦ ความปลอดภัย และการดูแลตัวเอง ทั้งนี้อาจเป็นการชวนพูดคุยทั่วไป หรือสอดแทรกประเด็นระหว่างเล่นบทบาทสมมติกันก็ได้
    -  ใช้สื่ออย่างหนังสือนิทาน หรือการ์ตูนมาช่วยสอนให้ลูกเห็นภาพ และเข้าใจมากขึ้น 
 
 
** แหล่งข้อมูล - คู่มือสำหรับพ่อแม่เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก ตอน เด็กวัยอนุบาล 3-6 ปี
 
 

สินค้าแนะนำ