วิธีอ่านหนังสือกับลูกวัยเตาะแตะ ( 1-2 ปี )
ช่วง 9-12 เดือน ทารกบางคนเริ่มเข้าใจชื่อของสิ่งของ เมื่อเข้าใจแล้ว ลูกต้องการได้ยินบ่อยๆ หนังสือรูปภาพจึงเป็นสิ่งที่โปรดปราน ให้คุณชี้ภาพในหนังสือ แล้วหยุดรอฟังคำตอบ แล้วจึงค่อยเฉลย หากลูกชอบกิจกรรมนี้ แสดงว่าลูกเริ่มอยากเรียนรู้ ช่วงแรกคุณยังไม่ได้ยินลูกตอบ แต่อีก 1-2 ปี คุณจะทึ่งกับศัพท์ใหม่ๆที่ลูกเรียนรู้
เมื่ออายุ 12-15 เดือน ทารกอาจตั้งใจถือหนังสือกลับหัว ช่วง 18 เดือน ทารกอาจเปิดหนังสือจากด้านหลังมาด้านหน้า
วัยเตาะแตะส่วนใหญ่รักการเคลื่อนไหว ส่วนคนที่ยังเดินไม่ได้ ชอบการโยก การจั๊กจี้ และการกอดขณะที่ฟังพ่อแม่อ่าน ส่วนคนที่เดินได้แล้ว อาจนั่งฟังได้นานเพียง 2-3 นาที แต่ยังชอบที่จะฟังไปเดินเล่นไปด้วย เด็กวัยนี้ชอบถือหนังสือเดินไปมาและนำมาให้ผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง
เพื่อหลีกเลี่ยงการขัดแย้ง ควรวางหนังสือไว้ในตำแหน่งที่ลูกหยิบออกมาและเก็บเข้าที่ได้เอง ควรวางหนังสือให้ลูกเลือกครั้งละ 3-4 เล่มเท่านั้น เพราะหนังสือยิ่งมาก ยิ่งเลือกยากและคุณต้องเสียเวลาเก็บจากพื้นห้อง ให้เข้าที่เก็บหนังสือนานมากขึ้น
เมื่ออายุ 18 เดือน เด็กเดินได้คล่องแล้ว กิจกรรมที่ชื่นชอบ คือ การถือหนังสือเดินไปทั่วๆ และลูกเริ่มเรียนรู้แล้วว่า หนังสือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่ได้ โดยการเลือกหนังสือแล้วเดินไปนั่งที่ตักพ่อแม่ แล้วพูดว่า “อ่านให้ฟังหน่อย”
เมื่ออายุ 2 ขวบ ลูกเริ่มเข้าใจภาษามากขึ้น หนังสือช่วยให้รู้จักสิ่งต่างๆ พ่อแม่ชี้รูปภาพในหนังสือและถามลูกว่าเป็นรูปอะไร รอคำตอบ แล้วค่อยเฉลย หรือชมเชย หากลูกตอบได้ถูกต้อง หรือหากลูกตอบผิด ให้สอนคำตอบที่ถูกต้อง
อะไรที่ทำให้การสอนแบบถามตอบได้ผล คือ การทำซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะเด็กเล็กๆ การทำซ้ำๆ จะช่วยในการเรียนรู้ เมื่อลูกรู้จักศัพท์ใหม่ๆ เขาจะเริ่มใช้คำศัพท์ทำเป็นประโยคได้ และรู้จักว่าทำอย่างไร ประโยคจึงกลายเป็นเรื่องราวได้
เด็กเล็กและทารกไม่รู้จักรักษาหนังสือ ชอบฉีก หรือทำหนังสือขาด หรือ ขีดเขียนบนหนังสือ วิธีแก้ไข คือ การตักเตือนอย่างนุ่มนวล ไม่ดุด่า เพราะจะทำให้ลูกไม่ชอบหนังสือ หากระดาษอื่นมาทดแทนความต้องการฉีกหรือเขียนบนหนังสือ
รูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่าง เด็กบางคนชอบมองดูรูปภาพ พ่อแม่จึงควรเลือกหนังสือที่มีรูปภาพ หรือ ปริศนารูปภาพให้เด็กดู บางคนชอบฟัง จึงควรเลือกหนังสือโคลงกลอน หรือ คำคล้องจอง จะช่วยให้เด็กจำได้ ทำให้สนุกกับการอ่านมากขึ้น บางคนชอบการจับสัมผัส หรือชอบเคลื่อนไหวร่างกายไปด้วยขณะอ่านหนังสือ เช่น การทำท่าพายเรือ ขี่ม้า หรือ ทำท่าคนซุป ประกอบไปตามเนื้อเรื่องที่อ่าน
เด็กๆเรียนรู้ได้ดีที่สุด หากได้ลงมือทำด้วยตัวเอง เช่น หากอ่านนิทานเรื่อง อาละดินกับตะเกียงวิเศษ พ่อแม่อาจทำกิจกรรมหรือเล่นสนุกกับลูก โดยการพาลูกออกไปขุดดินเพื่อหาสมบัติ หรือ เล่นนั่งบนพรมวิเศษ
ขอบคุณข้อมูลจาก Facebook คุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ อ่านต้นฉบับ