ตะกร้าสินค้า
cancel

My Cart

ยอดรวม

0.00 บาท

พัฒนาอารมณ์และสมอง ด้วยของเล่น วัยแรกเกิด - 3 ปี

วันที่ : 23/12/2019
remove_red_eye อ่านแล้ว : 12,804 คน
share แชร์

เชื่อหรือไม่ว่า... ของเล่น ให้คุณค่ามากกว่าความสนุก และยังช่วยพัฒนา EQ และ IQ ด้วย มาพัฒนาอารมณ์และสมอง ด้วยของเล่น เพื่อลูกวัยแรกเกิด - 3 ปี กันค่ะ

จากการค้นคว้าของผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ทำให้ทราบว่า นอกจากความสุขสนุกสนาน สุขสบายใจแล้ว “การเล่น” จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ตัวเอง ทั้งความสามารถของร่างดาย ความคิดความรู้สึก เวลาเล่นเขาจะมีโอกาสแสดงอารมณ์ทั้งทางบวกและลบ เขาสามาถแสดงความรู้สึกเก็บกด โกรธ ไม่พอใจ ฯลฯ ออกมาโดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น เด็ก ๆ จะค่อยเติบโตด้วยความเข้าใจคำว่า “ความสุข เสรีภาพ และความยุติธรรม” จากการเล่นนี่เอง

ขณะที่ลูกสัมผัสของเล่นชิ้นใดชิ้นหนึ่ง เขาจะได้สังเกต พิจารณาทดลองทำอะไรกับของเล่นชิ้นนั้นหลาย ๆ แบบ ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ มีการพัฒนาเซลล์ประสาท ทำให้ฉลาด ซึ่งการพัฒนาด้านสมองนี้จะไปได้ดีในช่วงแรกของชีวิตมากกว่าช่วงอื่นเชียวนะ จะบอกให้!

คุณพ่อคุณแม่คงอยากรู้ว่าแล้วว่า ลูกของเราในแต่ละช่วงวัยมีพัฒนาการอย่างไร ของเล่นแต่ละอย่างน่ะ ช่วยให้ลูกเรียนรู้อะไรบ้าง ดูคำอธิบายต่อไปนี้เลยค่ะ

-----------------------

เด็กแต่ละวัยจะมีวิธีการเล่นตามระดับพัฒนาการของตน เด็กวัย 1 – 3 ปี จะมีการเล่นที่แตกต่างจากเด็กวัยทารก ในขวบปีแรกเด็กมักจะเล่นคนเดียว เริ่มต้นโดยการเล่นส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตนเอง และเล่นสิ่งของที่อยู่รอบตัว มักจะใช้มือจับของเข้าปาก โยน กลิ้ง หรือเคาะ แต่หลังจากอายุ 1 ปี ไปแล้ว การเล่นจะมีความซับซ้อนขึ้น ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ว่าสิ่งของต่าง ๆ นั้นมีความสัมพันธ์กัน เช่น ปล่อยของกลิ้งตกไปที่พื้น แล้วมองตามว่าไปที่ไหน ของต่างกัน เคาะแล้วเกิดเสียงต่างกัน เด็กเล่นน้ำ เล่นทราย แล้วสังเกตกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติ เป็นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่การกระทำ การเล่นกับคนอื่น หรือการเล่นคนเดียวก็เป็นเรื่องปกติของเด็กวัยนี้

ในช่วงอายุประมาณใกล้ ๆ 3 ปี เด็กจะเล่นโดยร่วมมือกันได้อย่างมีความหมาย มีการเล่นสวมบทบาทกันมากขึ้น อาจมีการเล่นสมมติอย่างง่าย ๆ แล้วก็สะท้อนถึงประสบการณ์ประจำวันที่เด็กเห็น เช่น เล่นขายของ เล่นสมมติเป็นคนขับรถ เป็นตำรวจ เลียนแบบกิริยาท่าทางและกิจกรรมที่เห้นคนในครอบครัวทำ สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กเรียนรู้บทบาทในเชิงสังคม นอกเหนือไปจากการฝึกหัดใช้ตาและมือประสานกัน เด็กจึงสามารถเล่นโดยรวมมือกัน สิ่งเหล่านี้เป็นการเรียนรู้เชิงสังคม ขณะเดียวกันก็เป็นการเรียนรู้เชิงภาษาด้วย

ดังนั้น การสนับสนุนการเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการ การสร้างสิ่งแวดล้อมและการเลือกของเล่น หนังสือ หรือเพลงสำหรับเด็กจึงมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก

 


การเล่นและของเล่นที่เสริมพัฒนาการ

แรกเกิด - 3 เดือน
พัฒนาการและความสามารถของลูก
- เริ่มยิ้มให้ผู้คน
- ชอบส่งเสียง, มองตามสิ่งที่เคลื่อนไหว
- ชอบมองใบหน้า และสีสันสดใส
- ชอบไขว่คว้า ยกมือ เตะเท้า ยกศีรษะ
- มีความสุขกับการดูด
- ชอบร้อง แต่จะหยุดเมื่อได้รับการกอดหรืออุ้ม
- หันศีรษะตามเสียง

ของเล่นที่ดีและมีกิจกรรมที่เหมาะสม
- ของเล่นถือเขย่าเสียงดังหรือห่วงใหญ่ให้ถือเล่น
- ของเล่นสำหรับดูดหรือบีบขยำ
- กระดิ่งหรือกระพรวนผูกติดข้อเท้า
- โมบายล์ที่แขวนให้ลูกมองเห็นชัด
- เพลงกล่อมเด็ก
- หนังสือที่จากผ้านุ่มๆ


4 - 6 เดือน
พัฒนาการและความสามารถของลูก
- เริ่มคุ้นกับคนใกล้ชิด เช่น พ่อ แม่ พี่
- ตั้งใจฟังเสียงมากขึ้น มีปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อมีคนพูดด้วย
- หัวเราะ ชอบเลียนเสียง ชอบทำเสียงในลำคอ
- ชอบสำรวจมือและเท้าของตัวเอง ชอบเอาของใส่ปาก กำสิ่งของได้แน่นแล้ว
- พลิกคว่ำหงายได้ นั่งได้ถ้าพยุง

 

ของเล่นที่ดีและมีกิจกรรมที่เหมาะสม
- ตุ๊กตานุ่ม ๆ ลูกบอลผ้า
- ของเล่นที่มีเสียงเวลาตี ขยำ หรือบีบ
- ของเล่นสำหรับกัด เช่น ยางกัดมีรูปตัวสัตว์ต่าง ๆ
- หนังสือพลาสติก หรือหนังสือผ้าสีสด ๆ ที่กัดหรือสะบัดได้โดยไม่ขาด
- ช้อนขนาดต่าง ๆ
- กระจกเงาแบบไม่แตก
- เล่นนับนิ้ว จ้ำจี้มะเขือเปราะ เล่นจ๊ะเอ๋ ร้องเพลงง่าย ๆ ให้ฟัง


7 - 12 เดือน
พัฒนาการและความสามารถของลูก
- จำเหตุการณ์ง่าย ๆ ได้มากขึ้น
- รู้จักตัวเอง ชอบสำรวจส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- จำชื่อตัวเอง เริ่มเข้าใจคำพูดง่าย ๆ เริ่มหัดพูด
- ชอบตี เขย่าวัตถุ ไขว่ขว้า เริ่มรู้จักค้นหาของเล่น
- รู้จักหยิบวัตถุใส่ภาชนะและหยิบออก
- นั่งได้ คลาน เกาะยืน
- ฟันเริ่มขึ้น คันเหงือกอยากกัด

ของเล่นที่ดีและมีกิจกรรมที่เหมาะสม
- ของเล่นทั้งหมดที่เล่นตั้งแต่เดือนแรกยังใช้ได้ดี
- เครื่องครัว
- ของเล่นจำพวกผลัก – ดึง
- จิ๊กซอว์ชิ้นใหญ่
- หนังสือที่ทำจากกระดาษแข็ง
- ห่วงวงแหวน
- กล่องใส่ชิ้นรูปทรง
- บล็อกซ้อน


1 - 2 ขวบ
พัฒนาการและความสามารถของลูก
- เลียนแบบท่าทางผู้ใหญ่ เริ่มรู้จักเล่นบทบาทสมมติ
- พูดเก่งขึ้น เข้าใจคำพูดมากขึ้น เริ่มรู้จักปฏิเสธ แสดงความเป็นอิสระ
- ชอบสำรวจและทดลองวัตถุสิ่งของต่าง ๆ
- เดินแข็งแล้ว ปีนบันไดได้ ก้มเก็บของได้
- ชอบฟังนิทาน มีสมาธินานขึ้น ชอบเพลง
- เริ่มรู้จักสัมพันธ์กับเด็กอื่น แต่ยังชอบเล่นคนเดียว
- เริ่มเข้าใจสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการให้ทำ แต่ยังควบคุมตัวเองไม่ได้
- กล้ามเนื้อมือและตาประสานกันดีขึ้น
- ชอบคำชม ชอบช่วยงานบ้าน

 

ของเล่นที่ดีและมีกิจกรรมที่เหมาะสม
- ของเล่นที่เคยมีมาทั้งหมด
- เครื่องมือเครื่องใช้บางอย่างในครัว
- อุปกรณ์ศิลปะ
- บล็อก
- ตุ๊กตา รถเด็กเล่น โทรศัพท์ของเล่น
- ค้อนตอก แผ่นตอกหมุดไม้
- ทรายและน้ำ
- ห่วงวงแหวน
- กล่องหยอดแท่งรูปทรง
- หนังสือนิทาน
- หลอดเป่าฟองสบู่
- เครื่องดนตรีและกล่องดนตรี
- พาหนะเด็กเล่น
- รถลาก
- ด้ายหลอดใหญ่ หรือลูกปัดร้อยใส่เชือก


2 - 3 ขวบ
พัฒนาการและความสามารถของลูก
- โยนรับวัตถุเบา ๆ ได้
- เรียนรู้ภาษาอย่างรวมเร็ว ชอบเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ
- เริ่มรู้จักสิ่งที่เป็นอันตราย
- บังคับมือและนิ้วได้ดี ชอบเที่ยว
- เป็นตัวของตัวเองมาก อารมณ์ปรวนแปรง่าย
- ชอบแสดงบทบาทเลียนเหตุการณ์ในครอบครัว
- ร้องเพลงสั้น ๆ ง่าย ๆ ได้

ของเล่นที่ดีและมีกิจกรรมที่เหมาะสม
- ตัวปริศนาทำจากไม้ เกมโดมิโนแท่งไม้เป็นชิ้นแบบต่าง ๆ
- กระดานติดเข็มหมุดได้
- หนังสือภาพ หนังสือนิทาน
- สีน้ำ แปรงทาสีอันใหญ่
- จิ๊กซอว์
- จักรยานสามล้อ ของเล่นที่ขี่ได้
- กระบะทรายและของเล่นกลางแจ้ง
- บล็อก
- ตุ๊กตากับเสื้อผ้าตุ๊กตา เตียงตุ๊กตา
- เสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วไว้เล่นบทบาทสมมติ
- ชุดประกอบรถไฟชิ้นใหญ่ไม่ซับซ้อน
- อุปกรณ์ศิลปะ เศษกระดาษ กาว


 

ของเล่นที่แนะนำ