1.รับฟังอย่างตั้งใจ
โดยนั่งลงให้สายตาอยู่ในระดับเดียวกับลูก ตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้ลูกแสดงความคิดความรู้สึกออกมา เช่น “ตอนนั้นลูกรู้สึกอย่างไร”
2. ไม่ด่วนตัดสินใจ
อย่าเพิ่งดุหรือโต้เถียงลูก แม้ลูกจะผิดจริงก็ตาม ลองเปิดใจฟังความคิดลูกก่อน ลูกจะรู้สึกว่าพ่อแม่อยู่ฝ่ายเดียวกับเขา และอยากให้ความร่วมมือมากกว่าต่อต้าน เช่น “ไหนบอกหน่อยสิ ว่าทำไมถึงไม่อยากไปโรงเรียน” “ทำไมลูกถึงไม่ยอมเก็บของเล่น?”
3. ยอมรับความรู้สึก
เป็นเรื่องธรรมดาที่ลูกจะยังควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ พ่อแม่ต้องยอมให้ลูกได้ปล่อยพลังด้านลบออกมาบ้าง อย่าเพิ่งห้ามว่า “อย่าโกรธนะ!” หรือ “หยุดร้องไห้ได้แล้ว!” แค่แยกตัวลูกออกมาจากสถานการณ์ต้นเหตุไม่ต้องพูดอะไรมาก คอยอยู่เคียงข้างและบอกว่า “แม่เข้าใจนะ” รอให้ลูกสงบ แล้วค่อยมาว่ากันด้วยเหตุผล พูดไปตอนนี้ก็ไม่ฟังหรอก
4. ตำหนิที่การกระทำ
ไม่ใช่ตัวตน เรื่องนี้สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น หากลูกพูดคำหยาบ ให้ย้ำว่า สิ่งที่ไม่ดีคือ คำพูด ไม่ใช่ตัวลูก วิธีนี้จะช่วยให้ลูกแยกแยะพฤติกรรมไม่ดีออกมาได้ง่าย และเรียนรู้ที่จะไม่ทำอีก โดยไม่รู้สึกแย่กับตัวเอง หรือคิดน้อยใจไปว่าแม่ไม่รัก แทนที่จะพูดว่า “ลูกแย่มากเลยที่พูดแบบนั้นกับแม่” ให้เปลี่ยนเป็น “คำพูดแบบนั้นไม่ดีเลย ไม่ควรใช้พูดกับคนอื่น”
5. เป็นตัวอย่างเรื่องการจัดการกับความรู้สึก
พ่อแม่ก็คือคนธรรมดาทั่วไปที่มีอารมณ์ความรู้สึกได้เหมือนกัน บอกให้ลูกรู้ได้ ที่สำคัญต้องแสดงให้ลูกเห็นว่าความรู้สึกต่างๆ ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป หาเหตุให้เจอ และหาวิธีจัดการกับมัน เช่น “แม่รู้สึกเสียใจนะที่ลูกใช้คำพูดแบบนั้น” “ขอเวลาแม่อยู่เงียบๆ สักห้านาทีนะ” หรือ “รอให้พ่อใจเย็น หายหงุดหงิดก่อนนะ แล้วเรามาคุยกันใหม่”
6. นำเสนอทางเลือก
เด็กๆ ก็อยากมีสิทธิในการเลือกและตัดสินใจให้ด้วยตนเองแบบผู้ใหญ่ บางครั้งเมื่อลูกงอแงไม่ยอมทำตาม ลองเปลี่ยนจากการใช้คำสั่งเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกเลือกบ้าง เช่น แทนที่จะบอกว่า “มาแต่งตัวได้แล้วลูก” ให้พูดว่า “ลูกอยากใส่ชุดสีส้ม หรือสีฟ้าจ๊ะ” เปลี่ยนจาก “แปรงฟันได้แล้วลูก” เป็น “ลูกอยากแปรงฟันก่อน หรือจะอาบน้ำก่อน” ให้หลีกเลี้ยงคำถามที่จะเปิดช่องให้ลูกตอบว่า “ไม่!” ได้ง่ายๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก : สิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)