บริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด ผู้ริเริ่ม " โครงการนิทานเพื่อนรัก " นิทานรายเดือนเพื่อส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัยถึงประถมศึกษาตอนต้น เน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการ ทั้งด้านการฟัง พูด อ่าน เขียน มาเป็นเวลากว่า 23 ปี
ได้จัดโครงการขยายผลการใช้นิทานเพื่อนรักเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นระยะเวลา 2 เทอม นับตั้งแต่สิ้นสุดการอบรมนิทานเพื่อนรัก ปีที่ 22 ในวันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2566 โดยหวังว่าคุณครูในโรงเรียนต่าง ๆ จะได้นำนิทานเพื่อนรักไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และมีการติดตามผลการดำเนินงานจนผู้เข้าร่วมโครงการบรรลุผลได้ในที่สุด
มีโรงเรียนที่เป็นสมาชิกนิทานเพื่อนรักเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 10 โรงเรียน ได้แก่
1. โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา
2. โรงเรียนประสารวิทยา
3. โรงเรียนพรศิริกุล
4. โรงเรียนปาริมา
5. โรงเรียนพงษ์ศิริวิทยา
6. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
7. โรงเรียนสุดารักษ์บางเขน
8. โรงเรียนอุดมวิทยา
9. ศูนย์พัฒนาเด็กชุมชนแสงธรรมคลองมณี
10. ศูนย์พัฒนาเด็กชุมชนซอยสมหวัง
ได้ดำเนินงานแล้วเสร็จด้วยความทุ่มเทและตั้งใจจากการทำงานของผู้เข้าร่วมโครงการ มีการส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กผ่านการนำนิทานเพื่อนรักมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อพัฒนาเด็กและศักยภาพของครูปฐมวัย บริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด ขอขอบคุณท่านที่เข้าร่วมโครงการขยายผลนิทานเพื่อนรักทุกท่าน
คณะที่ปรึกษาโครงการ นำโดย ดร.กันต์ฤทัย นาห้วยทราย ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลบ้านคุณแม่ และคณะครู ประกอบด้วย คุณครูปานหทัย อึ้งเกษมศรี คุณครูชัชดาพร อัมพรสายชล และคุณครูวริภา คำเวโล
♦ โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ♦
ผลงาน : การพัฒนาทักษะ EF ของเด็กปฐมวัย ระดับอนุบาล 2-3 ด้วยกิจกรรมเรียนเล่นบนนิทาน (Learn to Play on Story)
วัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนาทักษะทาง EF (Executive Function) ของเด็กปฐมวัย ระดับชั้นอนุบาล 2 – 3 ด้วยกิจกรรม เรียนเล่นบนนิทาน (Learn to play on story) ผ่านหนังสือนิทานเพื่อนรัก
โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาดำเนินงานการพัฒนาทักษะ EF ของเด็กปฐมวัย ระดับอนุบาล 2-3 ด้วยกิจกรรมเรียนเล่นบนนิทาน (Learn to Play on Story) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะทาง EF (Executive Function) ของเด็กปฐมวัย ระดับชั้นอนุบาล 2 – 3 ด้วยกิจกรรม เรียนเล่นบนนิทาน (Learn to play on story) ผ่านหนังสือนิทานเพื่อนรัก กระบวนการดำเนินงานเรียนเล่นบนนิทาน ใช้หลัก R.E.A.D. MODEL เพื่อใช้ในการจัดประสบการณ์ที่เหมาะสม (จารุทัศน์ วงศ์ข้าหลวง, ม.ป.ป.) ประกอบด้วย ขั้นการอ่าน ขั้นขยายความเข้าใจ ขั้นจัดกิจกรรมต่อเนื่อง และขั้นแสดงผลงาน เป็นเวลา 3 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงาน คือ แบบบันทึกการสังเกตเพื่อประเมินพัฒนาทักษะ EF ของเด็กปฐมวัย วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าร้อยละ ผลการประเมิน พบว่าการดำเนินงานดังกล่าวสามารถพัฒนาทักษะ EF ของเด็กปฐมวัยได้ทั้ง 3 กลุ่มทักษะ ประกอบด้วย 1) กลุ่มทักษะพื้นฐาน โดยพฤติกรรมด้านการยับยั้งชั่งใจ – คิดไตร่ตรองมีการพัฒนามากที่สุด 2) กลุ่มการทักษะตนเอง พบว่า ด้านการควบคุมอารมณ์ตนเองมีการพัฒนามากที่สุด และ 3) กลุ่มทักษะปฏิบัติ ด้านที่มีการพัฒนามากที่สุด คือ ด้านการวางแผนและจัดระบบดำเนินการ
♦ โรงเรียนประสารวิทยา ♦
ผลงาน : การจัดกิจกรรมจิตศึกษาพัฒนาปัญญาภายในผ่านหนังสือนิทานเพื่อนรัก
วัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนาปัญญาภายในของเด็กปฐมวัย ระดับชั้นอนุบาล 3 ด้วยกิจกรรมจิตศึกษาผ่านหนังสือนิทานเพื่อนรัก
โรงเรียนประสารวิทยาดำเนินการจัดกิจกรรมจิตศึกษาพัฒนาปัญญา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาปัญญาภายในของเด็กปฐมวัย ระดับชั้นอนุบาล 3 ด้วยกิจกรรมจิตศึกษาผ่านหนังสือนิทานเพื่อนรัก โดยการออกแบบกิจกรรมจิตศึกษาโดยนำหนังสือนิทานเพื่อนรัก 4 เรื่อง ได้แก่ บ้านหรรษาในป่าเก๋ากึ้ก, รถแทรกเตอร์ขี้อิจฉา, ความสุขของแม่ และแบ่งปันกันนะวาฬน้อย มาเชื่อมโยงในกิจกรรม ดำเนินการจัดกิจกรรมจิตศึกษาตามแผนที่วางไว้ ทั้งหมด 20 กิจกรรม เป็นระยะเวลา 20 วัน เครื่องมือที่ใช้คือแบบประเมินพฤติกรรมก่อน-หลังการใช้กิจกรรมจิตศึกษารูปแบบตรวจสอบรายการ ผลที่ได้จากการดำเนินกิจกรรมพบว่าเด็กปฐมวัยระดับชั้นอนุบาล 3 ได้รับการพัฒนาปัญญาภายใน ปรากฏพฤติกรรมที่พัฒนาปัญญาภายในเพิ่มขึ้นทั้ง 5 พฤติกรรม คือ 1) เด็กปรากฎพฤติกรรมมีสมาธิและมีใจจดจ่อมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจาก 41 คน เป็น 92 คน 2) เด็กปรากฎพฤติกรรมรู้จักการรอคอยมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจาก 61 คน เป็น 90 คน 3) เด็กปรากฎพฤติกรรมมีระเบียบวินัยความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจาก 50 คน เป็น 90 คน 4) เด็กปรากฎพฤติกรรมบอกอารมณ์และความรู้สึกของตนเองได้มากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจาก 44 คน เป็น 90 คน และ 5) เด็กปรากฎพฤติกรรมรู้จักชื่นชมผลงานของตนเองและผู้อื่นมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจาก 43 คน เป็น 91 คน
♦ โรงเรียนพรศิริกุล ♦
ผลงาน : การพัฒนาทักษะการออกเสียงของเด็กปฐมวัย ระดับอนุบาลปีที่ 1-3 ด้วยกิจกรรมการเล่านิทาน (PK story time ผ่านหนังสือนิทานเพื่อนรัก
วัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนาทักษะการออกเสียงพยัญชนะ/คำ ของเด็กปฐมวัยระดับอนุบาลปีที่ 1-3 ด้วยกิจกรรมการเล่านิทาน (PK story time) ผ่านหนังสือนิทานเพื่อนรัก
โรงเรียนพรศิริกุลดำเนินการพัฒนาทักษะการออกเสียง ของเด็กปฐมวัย ระดับอนุบาลปีที่ 1-3 ด้วยกิจกรรมการเล่านิทาน (PK story time ผ่านหนังสือนิทานเพื่อนรัก เพื่อพัฒนาทักษะการออกเสียงพยัญชนะ/คำ ของเด็กปฐมวัยระดับอนุบาลปีที่ 1-3 เนื่องมาจากจากการประเมินพัฒนาการตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา พบว่านักเรียนส่วนใหญ่มีพัฒนาการด้านภาษา การออกเสียงไม่ชัดเจน ดำเนินกิจกรรมผ่านการใช้นิทานเพื่อนรัก กับนักเรียนทั้ง 3 ระดับชั้น เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบบันทึกการออกเสียงพยัญชนะ/คำ ผลการสังเกตการออกเสียงของนักเรียนชั้นอนุบาล 1-3 พบว่าเด็กที่ออกเสียงชัดเจนมีจำนวนมากขึ้นจากก่อนทำกิจกรรมทั้ง 3 ระดับชั้น โดยเฉพาะในระดับชั้นอนุบาล 1 ก่อนทำกิจกรรม เด็กออกเสียงชัดเจนคิดเป็นร้อยละ 61.26 หลังจากทำกิจกรรมแล้ว มีเด็กออกเสียงชัดเจนมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 82.88
♦ โรงเรียนอนุบาลปาริมา (พิษณุโลก) ♦
ผลงาน : การพัฒนาทักษะสมอง EF โดยการเล่นเกมการศึกษาจากนิทานเพื่อนรักของเด็กปฐมวัย นักเรียนโรงเรียนอนุบาลปาริมา พิษณุโลก
วัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนาทักษะทางสมอง (EF) ผ่านการเล่นเกมการศึกษาจากนิทานเพื่อนรักของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนอนุบาลปาริมา พิษณุโลก
โรงเรียนอนุบาลปาริมา พิษณุโลก ดำเนินการการพัฒนาทักษะสมอง EF โดยการเล่นเกมการศึกษาจากนิทานเพื่อนรักของเด็กปฐมวัย นักเรียนโรงเรียนอนุบาลปาริมา พิษณุโลก เพื่อเพื่อพัฒนาทักษะทางสมอง (EF) ผ่านการเล่นเกมการศึกษาจากนิทานเพื่อนรักของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ทางโรงเรียนอนุบาลปาริมา พิษณุโลกได้ใช้นิทานเรื่อง “ใครอยู่ในไข่” มาใช้ในการออกแบบเกมการศึกษา และใช้แบบประเมินทักษะทางสมองเพื่อการบริหารจัดการชีวิต สำหรับนักเรียนช่วงรอยเชื่อมต่อปฐมวัยสู่ประถมศึกษา และระดับชั้นประถมศึกษา (Kasetsart University and ThaiHealth of Executive Function Scales (KU-THEF)) ในการประเมินผลก่อนและหลังทำกิจกรรม ผลการพัฒนาทักษะทางสมอง (EF) ผ่านการเล่มเกมการศึกษาจากนิทานเพื่อนรัก ของนักเรียนชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนอนุบาลปาริมา พิษณุโลก หลังจากทำกิจกรรมสรุปผลได้ดังนี้ 1) ทักษะการควบคุมอารมณ์ ระดับดีเยี่ยมและดีมาก ร้อยละ 66.67 2) ทักษะการปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่น ระดับดีเยี่ยมและดีมาก ร้อยละ 68.06 3) ทักษะการยับยั้ง ระดับดีเยี่ยมและดีมาก ร้อยละ 72.22 4) ทักษะการตรวจสอบตนเอง ระดับดีเยี่ยมและดีมาก ร้อยละ 66.67 5) ทักษะการตรวจสอบงาน ระดับดีเดยี่ยมและดีมาก ร้อยละ 81.94 6) ทักษะการจัดระเบียบวัสดุอุปกรณ์ ระดับดีเยี่ยมและดีมาก ร้อยละ 80.56 7) ทักษะการวางแผนและจัดระบบ ระดับดีเยี่ยมและดีมาก ร้อยละ 65.28 8) ทักษะความจำเพื่อใช้งาน ระดับดีเยี่ยมและดีมาก ร้อยละ 98.61 และ 9) ทักษะริเริ่ม ระดับดีเยี่ยมและดีมาก ร้อยละ 84.72
♦ โรงเรียนพงษ์ศิริวิทยา ♦
ผลงาน : การพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ด้วยรูปแบบการสอนบูรณาการ STREAMSS
วัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ของเด็กปฐมวัย ด้วยรูปแบบการสอนบูรณาการ STREAMSS ผ่านหนังสือนิทานเพื่อนรัก
โรงเรียนพงษ์ศิริวิทยา ดำเนินการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ด้วยรูปแบบการสอนบูรณาการ STREAMSS มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ของเด็กนักเรียนชั้นปฐมวัยปีที่ 1 – 3 จำนวน 561 คน ด้วยรูปแบบการสอนบูรณาการ STREAMSS ผ่านหนังสือนิทานเพื่อนรัก หนังสือนิทานที่โรงเรียนพงษ์ศิริวิทยานำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนบูรณาการ STREAMSS ประกอบด้วย หนังสือนิทานเพื่อนรักจำนวน 8 เรื่อง ได้แก่ ฉันรักผีเสื้อ, แตงกวาทะเลผู้น่ารัก, ต้นกล้ากลัวผี, ดาวจ๋าจะมาเมื่อไร, เจ้ารถจอมขุด, บรูโนมีเพื่อนเป็นร้อย, มาร์สแมนกับยายเช้า ตอน ปราบปีศาจควันพิษ และกล้องวิเศษของก๊อบแก๊บ โดยจัดตามความเหมาะสมกับระดับชั้นของเด็ก เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบประเมินทักษะ 4 Cs เป็นตรวจสอบรายการผ่านการสังเกต เพื่อประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา ทักษะการสื่อสาร และทักษะความร่วมมือในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ร่วมกับผลงานเด็ก การดำเนินงานของโครงการ โรงเรียนพงษ์ศิริวิทยาได้นำหนังสือนิทานเพื่อนรักมาใช้ในการจัดประสบการณ์สำหรับเด็ก ร่วมกับการสอนบูรณาการ STREAMSS เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ผลจากการดำเนินกิจกรรมตามนวัตกรรมการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ด้วยรูปแบบการสอนบูรณาการ STREAMSS ของนักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 – 3 โรงเรียนพงษ์ศิริวิทยา พบว่านวัตกรรมดังกล่าวสามารถพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนให้มีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ดีขึ้นได้อย่างรอบด้าน นักเรียนมีกระบวนการคิด การทำงานอย่างเป็นระบบ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และสามารถดำรงอยู่ในสังคมในอนาคตได้เป็นอย่างดี
♦ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ♦
ผลงาน : การพัฒนาเทคนิคการอ่านเพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านด้วยหนังสือนิทานเพื่อนรักร่วมกับเสียงเพลง และเสียงดนตรี
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลการใช้เทคนิคการอ่านหนังสือนิทานประกอบเสียงเพลงและดนตรี ในการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของเด็กปฐมวัย
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีการพัฒนาเทคนิคการอ่านเพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านด้วยหนังสือนิทานเพื่อนรักร่วมกับเสียงเพลง และเสียงดนตรี เพื่อศึกษาผลการใช้เทคนิคการอ่านหนังสือนิทานประกอบเสียงเพลงและดนตรี ในการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของเด็กปฐมวัย การดำเนินกิจกรรมการเล่านิทานประกอบเสียงเพลงและเสียงดนตรี จัดกิจกรรม สัปดาห์ละ 3 วัน ต่อสัปดาห์ (จันทร์ พุธ ศุกร์) วันละ20 นาที/ นิทาน 1 เรื่อง รวม 12 วัน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบประเมินพฤติกรรมนิสัยรักการอ่าน การวิเคราะห์ข้อมูลผลการสังเกตพฤติกรรมนิสัยการรักการอ่าน 2 รูปแบบ คือ 1) การประเมินตามเกณฑ์ผ่านตามที่โรงเรียนกำหนด ก่อนทำกิจกรรมมีเด็กไม่ผ่านเกณฑ์ 4 คน หลังทำกิจกรรม เด็กทุกคนผ่านเกณฑ์ และ 2) การแปลผลข้อมูลพฤติกรรมนิสัยรักการอ่าน ผ่านการใช้ค่าเฉลี่ย (population mean: µ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (population standard deviation: σ) เพื่อแปลผล พบว่า ผลจากตารางแสดงให้เห็นว่าก่อนใช้เทคนิคการอ่านเพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านด้วยหนังสือนิทานเพื่อนรักร่วมกับเสียงเพลงและเสียงดนตรี พบว่าพฤติกรรมนิสัยรักการอ่านของเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 1/2 มีค่าเฉลี่ยรวม 2.33 (µ = 2.33) ซึ่งอยู่ระดับพอใช้ หรือ มีพฤติกรรมนิสัยรักการอ่านในระดับพอใช้ หลังจากใช้เทคนิคการอ่านเพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านด้วยหนังสือนิทานเพื่อนรักร่วมกับเสียงเพลงและเสียงดนตรีแล้วพบว่าพฤติกรรมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนชั้นอนุบาล 1/2 มีค่าเฉลี่ยรวม 2.65 (µ = 2.65) ซึ่งอยู่ในระดับดี หรือมีพฤติกรรมนิสัยรักการอ่านในระดับดี
♦ โรงเรียนอนุบาลสุดารักษ์ บางเขน ♦
ผลงาน : การใช้กิจกรรมหุ่นใบไม้เล่าเรื่องเพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 โรงเรียนอนุบาลสุดารักษ์บางเขน
วัตถุประสงค์ : เพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 โรงเรียนอนุบาลสุดารักษ์บางเขน
โรงเรียนอนุบาลสุดารักษ์ บางเขน ดำเนินการใช้กิจกรรมหุ่นใบไม้เล่าเรื่องเพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 โรงเรียนอนุบาลสุดารักษ์บางเขน มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบประเมินพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการรัการอ่าน ก่อน-หลังทำกิจกรรม ดำเนินการผ่านการจัดกิจกรรมหุ่นใบไม้จากการใช้นิทานเพื่อนรัก จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ ตัวเล็ก โซฟานี้ดีที่สุด ยีราฟจ๋าขอจุ๊บหน่อย ต้นกล้าชอบกินผัก และขอบคุณนะสายลม เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบประเมินพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการรักการอ่านของนักเรียนชั้นอนุบาล 1 รูปแบบการตรวจสอบรายการ ประเมินผลก่อนและหลังทำกิจกรรม ผลจากการทำกิจกรรมจากนิทาน 5 เรื่อง พบว่าเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 1 มีพฤติกรรมรักการอ่านมากขึ้นทุกด้าน โดยพฤติกรรมที่พบมากที่สุดหลังทำกิจกรรม คือ 1) ความสนใจอ่านหรือดูหนังสืออย่างสนใจ มีความสนใจเปิดดูหนังสือเป็นเวลานาน 2) เปิดอ่านหนังสือหรือดูหนังสือทีละหน้า อย่างช้า ๆ ด้วยความสนใจ และ 3) เก็บหนังสือเข้าที่หลังจากที่เด็กอ่านหรือ ดูเสร็จแล้วตามที่จัดวางในชั้นหนังสือหรือ ตามที่ครูจัดวางไว้ตามที่ต่าง ๆ ให้อยู่ใน สภาพที่เรียบร้อยและเป็นหมวดหมู่ ซึ่งปรากฎพฤติกรรมคิดเป็นร้อยละ 100 การใช้กิจกรรมหุ่นใบไม้เล่าเรื่องเพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของเด็กปฐมวัยโรงเรียน อนุบาลสุดารักษ์จึงบรรลุวัตถุประสงค์ นอกจากเด็ก ๆ มีความสุขและชื่นชอบในการเข้าไปเลือกนิทานที่ตนเองสนใจมากขึ้น และสามารถจดจำคำศัพท์ใหม่ ๆ จากนิทาน ได้ดี จนนำไปสู่ความภาคภูมิใจของตนเองและนำมาสู่การ ประดิษฐ์หุ่นใบไม้ที่ตนเองชื่นชอบมาเล่นตามเนื้อเรื่องในนิทาน และนอกจากนี้เด็ก ๆ สามารถเปิดหนังสือนิทานได้ อย่างถูกวิธี ระมัดระวังในการเกิดความเสียหาย อีกทั้งเด็ก ๆ ยังรู้จักนำหนังสือนิทานเก็บเข้าที่ได้ทุกครั้งหลังจากใช้งานเสร็จ
♦ โรงเรียนอุดมวิทยา ♦
ผลงาน : การพัฒนาทักษะทางภาษาอย่างเป็นองค์รวมโดยใช้นิทานเพื่อนรักของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3/5 โรงเรียนอุดมวิทยา
วัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3/5 ให้มีทักษะทางภาษาอย่างเป็นองค์รวม ฟัง พูด อ่าน เขียน ได้สมวัยโดยใช้หนังสือนิทานเพื่อนรัก
โรงเรียนอุดมวิทยาดำเนินการพัฒนาทักษะทางภาษาอย่างเป็นองค์รวมโดยใช้นิทานเพื่อนรักของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3/5 โรงเรียนอุดมวิทยา มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3/5 ให้มีทักษะทางภาษาอย่างเป็นองค์รวม ฟัง พูด อ่าน เขียน ได้สมวัยโดยใช้หนังสือนิทานเพื่อนรัก ผ่านการออกแบบกิจกรรม 3 รูปแบบ ได้แก่ รักการฟัง สุขกับการอ่าน และสนุกกับการเขียน เครื่องมือที่ใช้ คือ 1) แบบประเมินการอ่านคำ และ 2) แบบประเมินทักษะทางภาษาอย่างเป็นองค์รวม ผลการดำเนินงานจากการเปรียบเทียบผลการประเมินพัฒนาทักษะทางภาษาอย่างเป็นองค์รวมก่อน และหลังการทำกิจกรรมแสดงให้เห็นว่าเด็กสามารถพัฒนาทักษะทั้ง 4 ทักษะได้ดีขึ้น โดยด้านการฟัง พัฒนาขึ้นคิดเป็นร้อยละ 15.97 ด้านการพูด พัฒนาขึ้นคิดเป็นร้อยละ 87.85 ด้านการอ่าน พัฒนาขึ้นคิดเป็นร้อยละ 17.01 และด้านการเขียน พัฒนาขึ้นคิดเป็นร้อยละ 15.63 ประโยชน์ที่ได้รับนอกจากเด็กมีทักษะทางภาษาอย่างเป็นองค์รวม ฟัง พูด อ่าน เขียน ได้สมวัยแล้ว ทางโรงเรียนยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าเด็กมีความสามารถในการคิดรวบยอดและคิดเชิงเหตุผล มีความกล้าแสดงออก ตลอดจนมีความสุขขณะร่วมกิจกรรม
♦ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ชุมชนแสงธรรมคลองมณี ♦
ผลงาน : รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับในการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเป็นองค์รวมผ่านกระบวนการอ่านหนังสือนิทานเพื่อนรัก
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการอิสลามศึกษาและ ภาษาอาหรับในการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเป็นองค์รวมผ่านกระบวนการอ่านหนังสือนิทานเพื่อนรัก
ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ชุมชนแสงธรรมคลองมณี ดำเนินการการจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับในการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเป็นองค์รวมผ่านกระบวนการอ่านหนังสือนิทานเพื่อนรัก เพื่อศึกษารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการอิสลามศึกษาและ ภาษาอาหรับในการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเป็นองค์รวมผ่านกระบวนการอ่านหนังสือนิทานเพื่อนรัก ทั้งนี้ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ชุมชนแสงธรรมคลองมณีได้มีการจัดทำแผนกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การอ่านหนังสือนิทานเพื่อนรักบูรณาการอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ จากนิทานเพื่อนรัก 3 เรื่อง ได้แก่ ฉันรักแม่ ใครอยู่ในไข่ และแบ่งปันกันนะวาฬน้อย จัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องละ 2 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 วัน รวมระยะเวลา 6 สัปดาห์ โดยใช้เครื่องมือเป็นแบบประเมินพัฒนาการ 4 ด้านตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2560 ผลการดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ เด็กมีค่าเฉลี่ยผลการประเมินพัฒนาการทั้ง 4 ด้านสูงขึ้นจากก่อนทำกิจกรรม ทั้งนี้การบูรณาการอิสลามศึกษา และภาษาอาหรับถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับเด็กปฐมวัยมุสลิม ซึ่งในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในนวัตกรรมนี้ เด็กจะได้พัฒนาอย่างเป็นองค์รวม ผ่านกระบวนการอ่านหนังสือนิทานเพื่อนรัก ที่เน้นให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ ผ่านการเล่น และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้ง 10 กิจกรรม
♦ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนซอยสมหวัง ♦
ผลงาน : การพัฒนาทักษะทางภาษา ด้วยการมีส่วนร่วมของเด็กปฐมวัย ผ่านหนังสือนิทานเพื่อนรักของเด็ก
วัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษา ของเด็กปฐมวัยผ่านหนังสือนิทานเพื่อนรักด้วยการมีส่วนร่วมของเด็กปฐมวัย
ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนซอยสมหวัง ได้ดำเนินการพัฒนาทักษะทางภาษา ด้วยการมีส่วนร่วมของเด็กปฐมวัย ผ่านหนังสือนิทานเพื่อนรักของเด็ก เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษา ของนักเรียนชั้นอนุบาล 2B อายุ 4-5 ปี จำนวน 19 คน ผ่านหนังสือนิทานเพื่อนรักด้วยการมีส่วนร่วมของเด็กปฐมวัย โดยหนังสือนิทานเพื่อนรักที่นำมาใช้เป็นหนังสือที่เด็กนักเรียนในชั้นอนุบาล 2B เลือก ได้แก่ 1) เจ้ารถจอมขุด 2) โซฟานี้ดีที่สุด 3) ต้นกล้ากลัวผี 4) ถ้ำใครเอ่ย และ 5) ฉันรักประเทศไทย การใช้นิทานเพื่อนรักพัฒนาทักษะทางภาษา ใช้เวลาจัดกิจกรรม 3 วันต่อสัปดาห์ในการจัดกิจกรรมกับนิทาน 1 เรื่อง เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบประเมินพัฒนาการทางภาษา (ฟัง, พูด, อ่าน, เขียน) โดยบันทึกผลหลังการทำกิจกรรมจากนิทานแต่ละเรื่อง จากการดำเนินกิจกรรม เด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 2B มีพัฒนาการทางด้านภาษา ฟัง พูด อ่าน เขียน มีจํานวนที่มากขึ้นหลังจัดกิจกรรมการเรียนรู้สูงขึ้นจากผลการประเมินก่อนทำกิจกรรม การดำเนินงานในครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพัฒนาการทางภาษาของเด็กนักเรียน ตลอดจนครูและอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กในการจัดกิจกรรมพัฒนาเด็กปฐมวัย ผ่านกระบวนการอ่านหนังสือนิทานเพื่อนรัก ซึ่งสามารถต่อยอดในการจัดกิจกรรมกับนิทานเรื่องอื่น ๆ ต่อไปได้