ตะกร้าสินค้า
cancel

My Cart

ยอดรวม

0.00 บาท

5 Tricks กระตุ้นพัฒนาการพูดเพื่อลูกน้อย

วันที่ : 22/11/2021
remove_red_eye อ่านแล้ว : 3,970 คน
share แชร์
5 Tricks กระตุ้นพัฒนาการพูดเพื่อลูกน้อย
 
อยากให้ลูกน้อยมีพัฒนาการทางภาษาที่ดี พูดสื่อสารเข้าใจ นอกจากการชวนลูกพูดคุย สอนให้ลูกพูดตาม หรือการที่คุณพ่อคุณแม่เป็นแบบอย่างที่ดีในการพูดแล้ว การกระตุ้นด้วยเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมได้ไม่น้อยเลยทีเดียว จะมีวิธีไหนบ้าง ตามมาอ่านกันต่อได้เลย
 

 
⇒ นิ่ง รอ ไม่รีบตอบสนอง 
คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้พูดบ้าง แม้อาจต้องใช้เวลารอสักเล็กน้อย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ลูกรู้จักการสื่อสารผ่านการพูด เช่น ขณะที่พูดกับลูก ควรเว้นระยะให้ลูกได้คิดออกเสียงตอบมาบ้าง ไม่รีบแย่งลูกพูด หรือเมื่อลูกชี้ขวดนม ก็ไม่จำเป็นต้องรีบยื่นขวดนมส่งให้
แต่ควรรอให้ลูกพูดคำว่า “นม” / “ขอนม” ออกมาก่อน จึงค่อยตอบสนองด้วยการยื่นขวดนมให้ 
 
 
⇒ ให้ความสนใจ เสริมแรงบวก 
ทุกครั้งที่ลูกพยายามสื่อสาร คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสนใจ อาจใช้ภาษากายในการสื่อว่ากำลังรอฟังในสิ่งที่ลูกต้องการพูดอยู่ เช่น ยิ้ม สบตา โอบกอด และเมื่อลูกสามารถสื่อสาร หรือพูดตอบสนองสิ่งที่ต้องการออกมาได้
คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องไม่ลืมให้แรงเสริมทางบวกด้วยการชื่นชม ปรบมือ หรือให้ในสิ่งที่ลูกพูดความต้องการออกมา
 
 
⇒ เดาความหมาย ขยายคำพูด
บางครั้งลูกอาจพูดสื่อสารออกมาไม่เป็นคำ คุณพ่อคุณแม่อาจใช้เทคนิคการเดาว่าลูกต้องการพูดถึงสิ่งใด จากนั้นจึงต่อบทสนทนาด้วยการพูดถึงสิ่งนั้น เพื่อเป็นการเสริมความมั่นใจให้ลูกกล้าเปล่งเสียงออกมา หรือหากลูกพูดออกมาเป็นคำ ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรตอบสนองด้วยการพูดขยายจากคำที่ลูกพูดออกมา เช่น ลูกพูดคำว่า “บอล” คุณพ่อคุณแม่อาจพูดกลับว่า “ใช่ บอลลูกใหญ่” “นั่นไง ลูกบอลสีแดง” วิธีนี้ลูกจะได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ เพิ่มเติมขึ้นด้วย
 
 
⇒ ไม่ล้อ ไม่ตำหนิ เมื่อลูกพูดไม่ชัด 
เด็กเล็ก ๆ ยังขาดทักษะการเคลื่อนไหวของปาก และลิ้นในการออกเสียง จึงทำให้พูดออกมาไม่ชัด สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ ‘ไม่’ ควรทำ คือ แสดงความเอ็นดูหรือพูดไม่ชัดตามลูก เพราะจะทำให้ลูกพูดไม่ชัดและติดไปจนโต แต่ก็ไม่ควรตำหนิ หรือเคี่ยวเข็ญแก้ไขให้พูดชัดในทันที ควรรอให้ลูกสามารถพูดสื่อสารได้มากพอก่อน เพราะการถูกล้อ ถูกดุ หรือบังคับให้พูดมากเกินไป อาจส่งผลให้ลูกไม่อยากพูด หรือไม่กล้าพูดอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการพูดให้ชัดเจน และถูกต้องอยู่เสมอเช่นกัน
 
 
⇒ ทำเรื่องพูดให้เป็นเรื่องเล่น
เพราะการเล่นคือการเรียนรู้อย่างหนึ่งของเด็ก ๆ ยิ่งสนุก ก็ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งจดจำได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหากิจกรรมต่าง ๆ มาช่วยเสริมพัฒนาการทางภาษาและการสื่อสารของลูก เช่น เล่านิทาน อ่านหนังสือ ร้องเพลง เต้นประกอบเพลง เล่นบทบาทสมมติ ท่องคำกลอน คำคล้องจองสำหรับเด็กที่มีเนื้อหาสนุกสนาน ดูรูปภาพจากบัตรภาพ บัตรคำ เป็นต้น
 
 
แหล่งข้อมูล : 
- คู่มือการฝึกพูดเบื้องต้น สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต
- บทความ ‘การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาในเด็ก’ โดย พญ. สุธีรา คุปวานิชพงษ์ โรงพยาบาลสินแพทย์
 

สินค้าแนะนำ