ตะกร้าสินค้า
cancel

My Cart

ยอดรวม

0.00 บาท

5 ขั้นเสริมสร้าง “สมรรถนะสมองดี” ฉบับฮาร์วาร์ด!

วันที่ : 09/05/2020
remove_red_eye อ่านแล้ว : 13,526 คน
share แชร์

5 ขั้นเสริมสร้าง “สมรรถนะสมองดี” ฉบับฮาร์วาร์ด!

เคล็ดลับของการมีสมองดี แม่และพ่อก็ส่งเสริมให้ลูกได้ตั้งแต่ก่อนที่ลูกจะพูดเป็นเสียด้วยซ้ำ วิธีง่าย ๆ คือ การมี ปฏิสัมพันธ์แบบสะท้อนกลับระหว่างกันและกัน ซึ่งช่วยทำให้สมองของเด็กพัฒนาอย่างรวดเร็ว !

 

1. สังเกตความสนใจของลูก

หนูน้อยจ้องมองสิ่งไหนหรือชี้ไปที่อะไรอยู่หรือเปล่า หรือทำเสียงแปลก ๆ ทำหน้าตาตลก ๆ ขยับแขนขาอย่างกระตือรือร้น นั่นคือสัญญาณที่แสดงว่าลูกกำลังสนใจบางสิ่งบางอย่างเข้าแล้ว ทันทีที่รับรู้...ขอแค่แม่และพ่อตอบรับปฏิกริยานั้น  เพราะในความเป็นจริงคงไม่อาจสังเกตเห็นหรือตอบสนองลูกสิ่งที่ลูกสนใจได้ทันตลอดเวลา
 

2. ตอบสนองความสนใจลูก

แค่ตอบรับให้ลูกรู้ว่าแม่และพ่อรับฟังหนูอยู่นะ ไม่ว่าจะเป็นการกอด พูดคุยหยอกล้อ เล่นไปสอนไป  หรือให้ใช้ประสาทสัมผัสสำรวจเพิ่มเติม โดยใช้น้ำเสียงและสีหน้าท่าทางสร้างสรรค์ ก็แสดงถึงความใส่ใจแล้ว  การสนับสนุนและส่งเสริมความสนใจเช่นนี้ ดีต่อใจลูกมาก ๆ ถือเป็นรางวัลที่ทำให้ลูกยิ่งกระตือรือร้นเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ  ตรงกันข้าม หากผู้ใหญ่เพิกเฉยนั่นเท่ากับกำลังสร้างความเครียด และทำลายวงจรประสาทการเรียนรู้ของลูกอย่างน่าเสียดาย

 

3. มาเรียกชื่อกัน

เมื่อแม่และพ่อตอบสนองความสนใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้าลูกโดยการพูดคุยถึงสิ่งนั้น เช่น ลูกเห็นอะไร ลูกทำอะไร หรือลูกรู้สึกอย่างไร ปฏิสัมพันธ์ง่าย ๆ นี้ช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายด้านภาษาให้พัฒนาขึ้นในสมองของลูก สิ่งนี้เป็นไปได้ก่อนที่ลูกจะพูดเป็นหรือก่อนที่จะเข้าใจคำนั้น ๆ ด้วยซ้ำ ผู้ใหญ่สามารถเรียกชื่อสิ่งต่าง ๆ ได้หมด  ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะ คน สัตว์ สิ่งของ ท่าทาง ความรู้สึก หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งช่วยให้ลูกค่อย ๆ ทำความเข้าใจสิ่งรอบตัวทีละนิด  และอุ่นใจว่าแม่และพ่อใส่ใจหนูเสมอ

 

4. ผลัดกันรุก ผลัดกันรับ

ทุกครั้งที่แม่และพ่อตอบสนองต่อความสนใจลูก อย่าลืมให้โอกาสลูกได้ตอบกลับมาด้วย เด็กแต่ละคนอาจตอบรับได้เร็วช้าต่างกัน การรอคอยจึงเป็นประเด็นสำคัญมาก ลูกต้องการเวลาในการประมวลผลสิ่งที่เรียนรู้ โดยเฉพาะถ้าสิ่งนั้นซับซ้อนขึ้น หรือประกอบด้วยข้อมูลหลายอย่างในคราวเดียว การตั้งรับโดยไม่กดดันเท่านั้นจึงจะช่วยให้ลูกสามารถรุกกลับมาได้ และยังช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะควบคุมตนเอง ปรับตัวเข้ากับผู้อื่น สร้างความมั่นใจในตนเองได้ รวมทั้งทำให้แม่และพ่อเข้าใจความต้องการของลูกได้มากขึ้น
 

5. จบ...เพื่อเริ่มต้นใหม่

เด็กมีช่วงความสนใจต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เท่ากัน ลูกจะส่งสัญญาณให้รู้เสมอว่า หนูพอแล้วนะ หรือพร้อมจะไปเล่นอย่างอื่น เช่น ปล่อยของชิ้นหนึ่งแล้วไปคว้าอีกชิ้นหนึ่ง หรือให้ความสนใจต่อสิ่งอื่นแทน บางครั้งก็เดินจากไปเฉย ๆ แล้วเริ่มค้นหาอย่างอื่น สำหรับแม่และพ่อที่ร่วมแบ่งปันสิ่งที่ลูกสนใจจะสังเกตได้ว่า เมื่อไรที่เจ้าตัวเล็กพร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่แล้ว  ซึ่งแรงสนับสนุนนี้จะช่วยให้ลูกกล้าสำรวจโลกรอบตัวได้อย่างไม่สิ้นสุด

 

กิจกรรมส่งเสริมปฏิสัมพันธ์แบบสะท้อนกลับเช่นนี้ ทำให้ทุกช่วงเวลาในแต่ละวันของคุณกับลูกเป็นเรื่องสนุกได้ไม่ยาก อีกทั้งยังได้พบเจอสิ่งท้าทายใหม่ ๆ เป็นประจำ ซึ่งจะกลายเป็นการฝึกฝนเรียนรู้ตามธรรมชาติอีกด้วย  เพราะทั้งแม่และพ่อได้ช่วยกันวางรากฐานหัวใจของการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นกับลูกตั้งแต่เล็ก ^^

 

ข้อมูล Center on the Developing Child, Harvard University