' ไม่เก็บของเล่น '
' วางของเกลื่อนบ้าน '
' รอคอยไม่เป็น '
' ชอบพูดแทรก '
' งอแงเอาแต่ใจ '
บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่มักเจอกับพฤติกรรมของลูกน้อยที่ชวนให้เหนื่อยทั้งกาย เหนื่อยทั้งใจอยู่เสมอ ครั้นจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แล้วรอให้โตกว่านี้ค่อยสอน...ก็คงไม่ดีแน่ แล้วจะทำอย่างไรให้ลูกน้อยมีระเบียบวินัย รู้จักควบคุมตัวเอง และมีพฤติกรรมที่แสดงออกอย่างเหมาะสม Plan for Kids มีเทคนิคดี ๆ มาแบ่งปันกันค่ะ
7 วิธีปรับนิสัย สร้างวินัยให้ลูกน้อย
► 1. พ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดี
ก่อนจะฝึกลูก พ่อแม่หรือคนใกล้ชิดต้องเป็นแบบอย่างที่ดีเสียก่อน เพราะเด็กจะซึมซับ เรียนรู้ และเลียนแบบพฤติกรรม คำพูด ท่าทางจากสิ่งที่เขาเห็นและได้ยินจากคนใกล้ตัว
► 2. สร้างกฎกติการ่วมกัน
โดยสมาชิกในครอบครัวทุกคนควรมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น พูดคุยทำความเข้าใจ ต่อรอง และทำข้อตกลงร่วมกันถึงกฎกติกาต่าง ๆ เช่น การแบ่งหน้าที่ทำงานบ้าน เวลาในการใช้คอมพิวเตอร์ เวลาในการกินข้าว อาบน้ำ เข้านอน รวมถึงบทลงโทษหากไม่สามารถทำตามกฎกติกาที่ตั้งไว้ได้
► 3. คำนึงถึงวัยและพฤติกรรมของลูก
คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งกฎกติกาให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามช่วงวัยของลูก และต้อง คำนึงถึงพื้นฐานนิสัยและพฤติกรรมของลูกเป็นหลักด้วย เพราะแม้เด็กจะอยู่ในช่วงวัยเดียวกัน แต่เด็กแต่ละคนก็มีนิสัยและพฤติกรรมที่แตกต่างกัน กฎกติกาบางอย่างอาจเหมาะกับเด็กคนหนึ่ง แต่กับเด็กอีกคนหนึ่งอาจใช้ไม่ได้ผล ดังนั้น ต้องคำนึงถึงตัวเด็กเป็นหลัก และต้องดูแลให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมและปลอดภัย
► 4. ยืดหยุ่นได้ แต่ต้องจริงจัง
กฎกติกาที่ร่วมกันตั้งขึ้นมา สมาชิกทุกคนควรทำตามอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ หากไม่สามารถทำได้ ควรพูดคุยกันด้วยเหตุผล อาจปรับหรือยืดหยุ่นตามสถานการณ์ แต่หากมีการทำผิด ก็ควรเป็นไปตามกติกาที่พูดคุยกันไว้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใจอ่อน เพราะเด็ก ๆ ควรได้เรียนรู้ถึงผลของการกระทำหากไม่ทำตามกฎกติกา
► 5. ไม่พูดขู่หรือลงโทษทันที
เมื่อลูกน้อยไม่ทำตามกฎ คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยเพื่อรับฟังเหตุผลและความคิดของลูกโดยปราศจากอารมณ์โกรธหรือไม่พอใจ การพูดขู่หรือลงโทษทันทีอาจได้ผลแค่ทำให้เด็กกลัวจึงต้องทำตาม แต่เด็กจะไม่ได้เรียนรู้การคิด การใช้เหตุผล ที่แย่ไปกว่านั้น อาจทำให้เด็กมีอาการต่อต้าน เก็บกด และซึมซับพฤติกรรมของพ่อแม่ เช่น การไม่รับฟังผู้อื่น การใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เป็นต้น
► 6. เสริมแรงบวกด้วยคำชม
คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นเสริมแรงบวกด้วยการพูดชม หรือโอบกอด เมื่อลูกสามารถทำตามกฎกติกาที่ตั้งไว้ได้ ทั้งนี้การพูดชมหรือให้กำลังใจสามารถทำได้โดยไม่ต้องรอจนเห็นผลลัพธ์ปลายทาง เช่น พูดชมขณะที่ลูกทำการบ้าน อ่านหนังสือ หรืออาจหาขนม น้ำหวานมาให้ลูกกินเพื่อเป็นการให้กำลังใจ ในส่วนของการให้รางวัลเป็นสิ่งของ อาจขึ้นอยู่กับโอกาสและสถานการณ์ แต่ไม่ควรนำมาใช้เป็นข้อต่อรองหรือติดสินบน
► 7. ไม่พูดย้ำ ซ้ำ บ่อย
เมื่อในครอบครัวมีการทำข้อตกลงร่วมกัน คุณพ่อคุณแม่ควรเชื่อใจและวางใจในตัวลูก การพูดย้ำเตือนบ่อย ๆ อาจทำให้ลูกรู้สึกรำคาญและต่อต้านได้
Tip&Trick
" การสร้างเสริมวินัย " ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่อาจใช้ตัวช่วยอย่าง " หนังสือนิทาน " มาร่วมอ่านไปด้วยกัน พร้อมซักถามพูดคุยเพื่อให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องราวในนิทาน หรืออาจใช้ตัวละครในนิทานมาเป็นต้นแบบในการจูงใจเพื่อให้ลูกได้ฝึกปฏิบัติตาม