ตะกร้าสินค้า
cancel

My Cart

ยอดรวม

0.00 บาท

เตรียมความพร้อมก่อนไปโรงเรียน

วันที่ : 27/12/2019
remove_red_eye อ่านแล้ว : 9,038 คน
share แชร์

เตรียมความพร้อมก่อนไปโรงเรียน

เด็กที่ช่วยตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกินอาหาร เข้าห้องน้ำ หรือแต่งตัว จะเกิดความรู้สึกมั่นใจในตนเอง และสามารถอยู่ในโรงเรียนได้อย่างมีความสุข สังเกตดูแล้วว่าลูกยังช่วยเหลือตัวเองได้ไม่ดีนัก แต่จำเป็นต้องให้เข้าโรงเรียน ก็อย่าเพิ่งกังวลใจ เพราะโดยทั่วไปเด็กในวัย 2 ขวบครึ่ง – 3 ขวบ มีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจที่จะช่วยตัวเองในเรื่องง่าย ๆ ได้บ้างแล้ว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่และผู้ดูแลเด็ก สามารถฝึกฝนในเรื่องต่างๆ ได้ดังนี้ค่ะ

ฝึกการแต่งตัว

- เด็กวัยนี้จะถอดเสื้อผ้าได้ก่อนสวม จึงควรสนับสนุนให้ลูกถอดเองบ่อย ๆ จะได้เป็นการฝึกมือ ฝึกขาไปด้วย
- เริ่มฝึกให้สวมใส่เสื้อผ้าที่สวมง่าย ๆ ก่อน ลูกจะได้มีกำลังใจ เช่น เสื้อยืดตัวใหญ่ ๆ หลวม ๆ คอกว้าง กางเกงยางยืด
- แยกตู้เสื้อผ้าให้ลูกต่างหาก จัดให้เป็นสัดส่วน และให้ลูกเลือกเสื้อผ้ามาสวมใส่เอง ลูกจะได้คุ้นเคยกับการช่วยตัวเองในเรื่องการแต่งตัว
- ให้ลูกได้เล่นตุ๊กตาตัวโต ๆ ที่สามารถถอดเปลี่ยนเสื้อผ้าได้และให้ลูกเล่นสวมใส่เสื้อผ้าให้ตุ๊กตา
- การหัดติดกระดุมเป็นขั้นตอนสำคัญของการสวมใส่เสื้อผ้าเอง การหัดให้ลูกติดกระดุม ควรทำเป็นขั้นเป็นตอนโดยเริ่มจากกระดุมเม็ดใหญ่ ๆ ที่คุณแม่อาจจะช่วยดันกระดุมเข้าไปในรังดุมก่อน แล้วให้ลูกค่อย ๆ ดึงขึ้นมา จากนั้นลองหัดให้ลูกทำเองบ้าง
- สำหรับลูกชาย ถ้าจะให้ลูกหัดรูดซิปกางเกงเอง ควรให้นุ่งกางเกงในด้วย เพื่อเวลารูดซิปจะได้ไม่รูดเอาเนื้ออ่อน ๆ เพราะถ้าครั้งแรก ๆ ลูกเจ็บตัว ก็จะเข็ดไม่ยอมฝึกอีก
 

ฝึกเข้าห้องน้ำ

- เตือนลูกบ่อย ๆ ให้ไปเข้าห้องน้ำ เด็กแต่ละคนมีช่วงเวลาการปวดอาจจะไม่เท่ากัน แต่โดยเฉลี่ยจะประมาณ 4-5 ชั่วโมง
- อย่าปล่อยให้ลูกเล่นจนเพลิน หรือปล่อยให้ลูกบอกว่า “เดี๋ยวก่อน” เพราะจะทำให้ไปเข้าห้องน้ำไม่ทัน เมื่อต้องการขับถ่ายจริง ๆ
- คุยให้ลูกฟังถึงขั้นตอนต่าง ๆ ที่ลูกจะต้องทำเมื่อเข้าห้องน้ำ เพราะลูกอาจจะต้องการทำด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องมีผู้ใหญ่เข้าไปด้วย
- ให้ลูกใส่เสื้อผ้าที่ถอดเข้าถอดออกง่าย เช่น กางเกงที่มีขอบยางยืด เด็กผู้ชายใส่กางเกงขาสั้นกว้าง ๆ หลวม ๆ
- ห้องน้ำต้องปลอดภัยพอที่เด็ก ๆ จะไปเข้าเองได้ เช่น ไฟเปิดสว่าง ไม่มืด พื้นไม่ลื่น ไม่มีข้าวของวางเกะกะ พื้นส้วมต้องไม่สูงเกินไปจนเด็กก้าวขึ้นเองไม่ได้
- ส้วมต้องนั่งได้สะดวก ถ้าเป็นส้วมซึมที่นั่งยอง ๆ เด็กจะนั่งได้ถนัดกว่าส้วมชักโครก แต่ถ้าเป็นส้วมชักโครกให้นั่งข้าง ๆ จะสะดวกกว่านั่งคร่อมลงไปแบบผู้ใหญ่
- หลังจากขับถ่ายเสร็จแล้ว ต้องสอนให้ลูกหัดล้างด้วยตัวเองรวมทั้งการล้างมือก่อนออกจากห้องน้ำ ในครั้งแรก ๆ อาจจะไม่ถนัดนัก ผู้ใหญ่ต้องช่วยเหลือ แต่ต่อไปจะค่อย ๆ ดีขึ้น
- สอนให้ลูกราดน้ำหรือกดชักโครกทำความสะอาดทุกครั้ง เพราะมีเด็กเป็นจำนวนมาก เมื่อไปโรงเรียน ไม่ราดน้ำหลังจากขับถ่ายเรียบร้อยแล้ว
 

ฝึกรับประทานเอง

- ผู้ใหญ่ต้องใจแข็ง เลิกตามตื๊อตามป้อน หรือให้รางวัลล่อเพื่อให้เด็กดินอาหาร
- เมื่อถึงเวลาให้เรียกมารับประทานที่โต๊ะอาหาร ถ้าเด็กยังไม่กินให้เก็บไปก่อน ถ้าหิวเด็กจะมารับประทานเอง
- ให้เด็กได้รับประทานอาหารร่วมโต๊ะกับผู้ใหญ่ เพื่อจะได้เห็นบรรยากาศของการช่วยตัวเองขณะรับประทาน ได้เห็นว่าผู้ใหญ่หรือพี่ ๆ กินได้ทุกอย่าง ไม่เลือกกิน
- เชิญเด็กคนอื่น ๆ เช่น ลูกของเพื่อนบ้านหรือลูกของญาติพี่น้องมารับประทานอาหารที่บ้านบ้าง เพื่อลูกกจะได้เห็นแบบอย่างที่ดี (แต่ต้องเลือกเด็กที่กินเก่ง ช่วยตัวเองได้ดี)
- ภาชนะที่ใส่หรือตักอาหารต้องเหมาะกับตัวเด็ก เช่น ช้อนส้อมคู่เล็ก จานชามก้นลึกและปากจานกว้าง เวลาตักจะได้ไม่หกง่าย
- ยอมให้ลูกทำอาหารหกเลอะเทอะบ้าง กินได้ง่าย ไม่ได้บ้างไปก่อน อย่าด่วนไปดุว่า ลูกจะได้ค่อย ๆ ฝึกหัดและไม่เสียกำลังใจ
- ให้ลูกได้หัดรับประทานอาหารที่หลากหลาย เพราะที่โรงเรียนลูกจะเลือกรับประทานเฉพาะที่ลุกชอบเป็นพิเศษเหมือนเวลาอยู่บ้านไม่ได้


ฝึกให้แสดงถึงความต้องการของตัวเอง

- เมื่ออยู่บ้าน บางครั้งเด็กไม่พูดไม่บอก พ่อแม่ก็สามารถตอบสนองความต้องการของลูกได้ด้วยความคุ้นเคย แต่เมื่อไปโรงเรียนเด็กจะต้องสื่อสารบอกความต้องการของตัวเองให้ครู พี่เลี้ยง หรือแม้แต่เพื่อนได้ เพื่อระบายความข้องใจและบอกถึงความต้องการ
- การฝึกในเรื่องไม่ยากเลย เพียงแต่
- ไม่ต้องตอบสนองลูก ถ้าลูกไม่พูดไม่บอก
- ไม่ต้องเดาใจลูกแล้วรีบทำให้ลูกทันที
- เมื่อลูกทำผิดพลาดแล้วมาบอก ควรให้อภัยไม่ดุว่า เพื่อลูกได้รับรู้ว่าพ่อแม่พร้อมรับฟังอยู่เสมอ
- เมื่อลูกพยายามที่จะพูดความรู้สึกของตัวเองบ้าง เช่น โกรธ กลัว ทั้ง ๆ ที่บางครั้งอาจจะฟังดูไม่มีเหตุผล อย่าด่วนตำหนิว่ากล่าว แต่ควรรับฟัง
- เมื่อพบเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้ลูกรู้สึกกลัว ตกใจ หงุดหงิด หรือกังวลใจ ให้ถามลูกด้วยท่าทีออ่นโยนว่า ลูกรู้สึกอย่างไร เพราะอะไรถึงได้รู้สึกอย่างนั้น หรือถ้าลูกยังพูดไม่ได้ ใช้คำพูดไม่ถูก อาจจะพูดนำให้ลูกก่อนก็ได้ เช่น “ลูกกลัวหรือค่ะ..ทำไมกลัวล่ะ หมาตัวโตเลยดูน่ากลัวใช่ไหมลูก”


ฝึกการฟัง

ทักษะการฟังเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าเด็กรู้จักฟัง รับฟังได้ดีจับเสียง จับสำเนียงได้ชัดเจน จะทำให้สามารถเรียนรู้ จดจำคำศัพท์ที่ใช้กันในโรงเรียนได้ดี การฝึกฟังไม่ต้องใช้เครื่องมือมาช่วยเลย เช่น
- ให้ลูกหัดจำแนกเสียงต่าง ๆ รอบตัว โดยให้ลูกฟังแล้วทายว่าเป็นเสียงอะไร เช่น เสียงพัดลม ชักโครก เครื่องดูดฝุ่น นาฬิกา รถยนต์ รถมอเตอร์ไซต์ บางเสียงต้องใช้สมาธิ ต้องเงี่ยหูฟัง เช่น เสียงหม้อข้าวเดือด เสียงนาฬิกาเดิน
- ตบมือตามจังหวะ เช่น ตบ 3 ทีติดกัน หรือตามจังหวะเพลง
- ให้ลูกพูดตามประโยคที่คุณแม่พูด โดยเริ่มที่ประโยคสั้น ๆ ก่อนแล้วจึงยาวขึ้น
- เล่านิทานให้ลูกฟัง แล้วให้ลูกเล่าทบทวนบ้างว่าเป็นอย่างไร ดูซิว่าลูกจับใจความได้มากน้อยแค่ไหน
- พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ เล่าเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านพบมาในแต่ละวันให้ลูกฟัง และให้ลูกเล่าให้ฟังบ้าง เช่น วันนี้ลูกเล่นอะไร เล่นกับใคร มีเรื่องสนุก ๆ จากการ์ตูนอะไรบ้างไหม

 

ฝึกการใช้มือ

การเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในโรงเรียน ส่วนหนึ่งเป็นการเรียนรู้ผ่านทางมือ ไม่ว่าจะเป็นการเล่น วาดรูป หรือเปิดหน้าหนังสือ รวมทั้งการช่วยเหลือตัวเองในด้านต่าง ๆ ด้วย ถ้ามีเวลาเตรียมตัวลูกก่อน ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้พัฒนากล้ามเนื้อมือ หรือฝึกการใช้มือให้ได้มากที่สุด โดย
- ให้ลูกได้จับดินสอเทียนหรือดินสอสีแท่งใหญ่ ๆ ขีดเขียนหรือระบายสีตามใจชอบ

- ให้ลูกได้เล่นดินน้ำมัน ดินเหนียว หรือแป้งโด ฝึกบีบ ขยำหรือปั้นเป็นรูปต่าง ๆ
- ให้ลูกได้วาดรูประบายสี โดยจุ่มนิ้วลงในสีผสมอาหาร แล้วลากนิ้ววาดรูปบนกระดาษแผ่นใหญ่
- หาพู่กันอันใหญ่ ๆ ให้ลูกได้ละเลงสีตามจินตนาการ
- เด็กวัยนี้มักชอบใช้มือขีดเขียน จึงควรหาไวต์บอร์ดขนาดใหญ่มาติดข้างผนัง หรือติดกระดาษแผ่นใหญ่ไว้แล้วคอยเปลี่ยนเอา เพื่อลูกจะได้ขีดเขียนได้เต็มที
- หากรรไกรปลายมนให้ลูกไว้ตัดผ้าหรือตัดกระดาษเล่น
- ให้ได้เล่นของเล่นที่ต้องใช้มือหมุน ปิด-เปิด หยิบเข้าหยิบออกบ่อย ๆ
- หาลูกปัดเม็ดโต ๆ ให้ลูกหัดร้อย

 

ฝึกระเบียบวินัย

เมื่อไปโรงเรียน ลูกต้องทำตามกฎเกณฑ์ของห้อง จึงควรฝึกลูกเสียแต่เนิ่น ๆ ก่อน ดังนี้
- ให้ลูกนอนแต่หัวค่ำ ไม่ดูโทรทัศน์จนดึก หัดตื่นแต่เช้า และนอนพักในช่วงบ่าย
- ให้กินอาหารเป็นเวลา ขณะกินต้องไม่เล่น และเมื่อกินเสร็จแล้วต้องยกจานอาหารไปเก็บ
- ให้ลูกถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา โดยเฉพาะตอนเช้าหลังจากตื่นนอนแล้ว
- เมื่อถอดเสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า ให้นำไปใส่ในตะกร้าชัก หรือจักวางให้เรียบร้อย

 

ฝึกการอยู่ร่วมกับผู้อื่น

- สอนให้ลูกหัดใช้คำว่า “ขอโทษ” เมื่อทำผิดหรือทำให้เพื่อนเจ็บโดยไม่ตั้งใจ และใช้คำว่า “ขอบคุณ” ไม่ว่าคุณครูหรือเพื่อนจะทำสิ่งใดให้ก็ตาม
- สอนให้ลูกรู้จักการแบ่งปัน โดยเฉพาะลูกคนเดียวที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับการแบ่งปันของเล่นของกินให้ใคร ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น ให้แบ่งของเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกันหรือญาติ ตอนแรก ๆ อาจจะหวงของ แย่งกัน แต่ต่อไปจะเรียนรู้ที่จะแบ่งปัน  ให้เห็นตัวอย่างจากพ่อแม่ที่ได้ให้ข้าวของเครื่องใช้ผู้อื่น เมื่อไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ให้ลูกได้เป็นผู้ถือของฝากไปมอบให้ญาติผู้ใหญ่เองบ้าง

- สอนให้รู้จักอดทนอละรอคอย เมื่อลูกขออะไรหรือจะเอาอะไร ต้องไม่รีบตอบสนองในทันที แต่ต้องบอกให้คอย หรือต้องช่วยแม่ทำอย่างอื่นก่อน


หนังสือแนะนำ