ตะกร้าสินค้า
cancel

My Cart

ยอดรวม

0.00 บาท

เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นนักอ่าน

วันที่ : 20/07/2022
remove_red_eye อ่านแล้ว : 1,823 คน
share แชร์

เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นนักอ่าน ตอนที่ 1

ตั้งแต่รู้ว่าจะมีลูก ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ก็คงรับรู้ข้อมูลเยอะแยะว่าการอ่านสำคัญขนาดไหน ทั้งสร้าง EF ทั้งสร้างพ่อแม่ที่มีอยู่จริง ทั้งเสริมสร้างพัฒนาการทุกขั้นของลูกก็ว่าได้ ดีจัง...ก็การเลี้ยงลูกรักให้เป็นนักอ่านนั้นสนุกออก! คุ้มค่าแล้วก็ง่ายด้วย

วัยแบเบาะ
ทำตัวให้เป็นนักอ่าน  ~ หากที่ผ่านมาคุณห่าง ๆ กับหนังสือไปบ้าง ตอนนี้ถึงเวลาที่จะเปิดมันอีกครั้ง จัดมุมสบาย ๆ หาเวลาผ่อนคลายกับหนังสือที่ชอบและหนังสือที่เตรียมไว้อ่านกับลูก ถ้าจะเลี้ยงลูกให้เป็นนักอ่าน ก็จงเป็นนักอ่านเสียก่อน

หนังสือเด็กเล็กเป็นสิ่งจำเป็น ~ คุณอาจคิดว่าลูกยังแบเบาะ ไม่ต้องรีบซื้อหนังสือจนกว่าลูกจะตั้งไข่ก็ได้มั้ง แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะประโยชน์เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ที่ลูกได้ยินเสียงพ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟัง

อ่านออกเสียง อ่านทุกวัน อ่านอะไรก็ได้ ~ เชื่อเถอะว่าคุณอ่านให้ลูกฟังได้ทุกอย่างตั้งแต่เกิด ไม่ว่าจะเป็นตำราอาหาร คู่มือเลี้ยงลูก หรือแม้แต่นิยายเรื่องโปรด เพราะสิ่งสำคัญคือน้ำเสียงอบอุ่นกับถ้อยคำที่ลูกคุ้นเคยต่างหาก งานวิจัยบ่งชี้ว่า จำนวนคำที่ทารกได้ยิน มีผลโดยตรงต่อพัฒนาการด้านภาษาและการอ่านเขียน ภาษาต้องสื่อตรงไปถึงลูกแบบมีชีวิตชีวา ฉะนั้น ถ้าคิดจะเปิดทีวีหรือสื่อไอทีให้ลูกฟังก็ไม่นับอยู่ในข้อนี้หรอกนะ และรับรองว่าดีแน่ที่จะเริ่มต้นอ่านหนังสือเด็กให้ลูกฟัง เพราะทั้งหมดก็จะได้เข้าไปอยู่ในชั้นหนังสือของลูกด้วย แต่อย่าถึงขั้นจำกัดตัวเองมากไป ให้แน่ใจว่าตัวเองอ่านแล้วก็สนุกด้วย

ใช้ประสาทรับสัมผัส ~ ทารกที่ได้ฟังนิทานจะเรียนรู้ว่าการอ่านเป็นเรื่องสนุก และรับรู้ได้ผ่านประสาทสัมผัสต่าง ๆ ทั้งความรู้สึกยามสัมผัสหรือได้กลิ่นกระดาษ ได้เห็นภาพประกอบ ได้ฟังเสียงพ่อแม่ โดยเฉพาะถ้าเป็นหนังสือที่มีผิวสัมผัสด้วย ก็ยิ่งดีต่อประสบการณ์ของลูก

ใส่ใจผู้ฟัง  ~ ไม่ลืมสบตาลูกเป็นระยะ แต่ไม่ต้องถึงขั้นจ้องมอง บางทีอาจดูเหมือนลูกไม่ได้สนใจฟัง แต่จริง ๆ ลูกก็กำลังซึมซับประสบการณ์ทั้งหลายอยู่นะ ทั้งรูปแบบ กิจวัตร และท่าทีเอาใจใส่ ซึ่งจะหล่อหลอมให้ติดตัวไปจนโต

ชวนลูกคุย ~ ทารกเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ตอบสนองเมื่อพ่อแม่อ่าน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหนังสือสำหรับเด็กแรกเกิดถึงมีแต่คำง่าย ๆ หรือมักเป็นเสียงสัตว์ นั่นเพราะว่าลูกจะเลียนเสียงง่ายไงล่ะ พอลูกทำตาม คุณก็ทำต่อ ถึงจะดูไม่ค่อยมีความหมายเท่าไร แต่นี่ก็จัดว่าเป็นการสื่อสารของลูก และยังเป็นก้าวแรกของชมรมครอบครัวนักอ่านด้วย

 


เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นนักอ่าน ตอนที่ 2

พอลูกโตขึ้นอีกนิดเข้าสู่วัยเตาะแตะ มาดูกันต่อว่าพ่อแม่จะใช้เทคนิคไหนมาสร้างนักอ่านตัวน้อยดี ในวันที่โลกรอบตัวมีแต่ไอที แต่เพราะเชื่อในพลังของหนังสือ เพราะประโยชน์นานัปการที่การอ่านส่งผลต่อพัฒนาการทุกขั้นของลูก แล้วจริง ๆ การเลี้ยงลูกรักให้เป็นนักอ่านนั้นก็ไม่ยากเกินมือคุณสักนิด !

วัยเตาะแตะ
มันยากที่จะบอกเป๊ะ ๆ ว่าการอ่านสำคัญกับพัฒนาการด้านสติปัญญา สังคม และอารมณ์ของลูกยังไง แต่เมื่อคุณอ่าน ลูกก็จะค่อย ๆ ซึมซับทั้งหมดนั้นเข้าไปทีละนิด ทั้งศัพท์ รูปประโยค จำนวน ตัวเลข สี รูปทรง สัตว์ คำตรงข้าม กริยาท่าทาง และข้อมูลสารพัดประโยชน์ที่โลกนี้สอนกัน การที่พ่อแม่อ่านเสียงดังฟังชัด ลูกจะเชื่อมโยงได้ว่าหนังสือคือสื่อที่คุ้นเคย เสียงที่ลูกชอบ และสัมผัสที่ผูกพันใกล้ชิด คุณกำลังทำให้ลูกรู้สึกดีกับหนังสือ และนั่นก็จะติดตัวลูกไปตลอด

การอ่านทำได้ทั้งวัน ~ ดูเหมือนว่านิทานก่อนนอนจะเป็นกิจวัตรที่ทุกบ้านคุณเคย ก็เวลาไหนจะดีไปกว่านี้ล่ะ หลังจากที่ใช้พลังมาทั้งวันแล้วได้ผ่อนคลายก่อนนอนซะหน่อย อยู่ในบรรยากาศสบาย ๆ ไม่เร่งรีบ เลือกหนังสือที่จะจบลงแบบพร้อมส่งลูกเข้านอนได้ ไม่เพียงเท่านี้ เพราะการอ่านให้ลูกฟังในระหว่างวันก็ดีไม่น้อย ช่วงเวลานิทานเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้เด็ก ๆ สงบลงและเริ่มจดจ่อ แค่นั่งด้วยกันและเพลิดเพลินไปกับหนังสือตรงหน้า


เลือกหนังสือที่ชอบ ~ มีเรื่องไหนที่คุณชอบอ่านตอนเป็นเด็กและยังประทับใจอยู่จนถึงทุกวันนี้ ลองเลือกเรื่องพวกนั้นดู พร้อมมองหาเรื่องใหม่ ๆ ตามเพจหรือร้านหนังสือ ที่ผู้เชี่ยวชาญหรือเหล่าแม่ ๆ แนะนำ หรือจะเป็นเรื่องที่เคยเห็นในห้องสมุดก็น่าสนใจ

ให้อิสระลูกเลือกสิ่งที่ชอบ ~ ไม่แปลกที่ลูกจะชอบนิทานไม่เหมือนคุณ บางเรื่องที่คุณคิดว่ามันเหมาะกว่า หรือลูกน่าจะได้เรียนรู้อะไรมากกว่า แต่ลูกกลับไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น ชวนคุยว่าลูกชอบอะไรในเรื่องนั้น แล้วลองหาเรื่องอื่น ๆ ที่คล้ายกันมาให้อ่านเพิ่มเติม

อ่านเคียงข้างกันไป ~ ยิ่งคุณทำให้ช่วงเวลานิทานสนุกมากเท่าไร ลูกก็ยิ่งใกล้ชิดกับหนังสือมากเท่านั้น แต่ถ้าหากคุณทำเสียงเล็กเสียงน้อยไม่ได้ขนาดนักเล่านิทานมืออาชีพก็ไม่เป็นไร ใช้วิธีอ่านเฉย ๆ ดีที่สุดเท่าที่ไหวก็ใช้ได้ ปล่อยให้ลูกเป็นคนพลิกหน้าถัดไปเอง เพราะบางครั้งลูกอาจอยากดูรายละเอียดในภาพอยู่ และก็ดีกับกล้ามเนื้อนิ้วของลูกด้วย

แทรกบ้างก็ได้ ~ ระหว่างที่คุณอ่านอยู่แล้วลูกถามแทรกขึ้นมา นั่นแสดงว่าลูกกำลังสนใจสิ่งที่ฟัง พักคุยถึงสิ่งที่ลูกสงสัยกันหน่อย แต่ถ้าคุณไม่แน่ใจในคำตอบ ก็บอกไปตามตรงว่าขอติดไว้ก่อน แล้วจะไปหาคำตอบให้ทีหลัง (เด็กความจำดี รับรองว่าคุณผัดผ่อนไม่ได้นานหรอก :) และถ้าลูกเหมือนจะไม่ได้สนใจในเรื่องนั้นเท่าไร ลองชวนลูกสังเกตรายละเอียดดูก็ได้ ชี้ที่ภาพ แล้วให้ลูกลองอธิบายหรือเล่าให้ฟังว่ามันเป็นยังไง


เริ่มเลย smiley เพราะอ่านวันนี้...คุณพ่อคุณแม่ก็จะได้นักอ่านตัวน้อยในเร็ว ๆ นี้


อ้างอิง : How to Raise a Reader, New York Times



นิทานแนะนำ